"ฟันผุ" ไม่ใช่เรื่องเล็ก อาจร้ายแรงถึงขั้นเป็นมะเร็งในช่องปาก
จากข่าวในโลกออนไลน์ ที่พบผู้ชายคนหนึ่งมีอาการปวดบวมเหงือกและฟันจนเป็นก้อนโตที่แก้ม เนื่องจากมีฟันผุ และได้รับการถอนฟันจากแพทย์ถึง 4 ซี่ สุดท้ายแพทย์แจ้งว่าเป็นโรคมะเร็งในช่องปาก
อันที่จริงแล้ว เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้จริงหรือไม่? แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าฟันผุแบบไหนที่อันตรายถึงขั้นเป็นมะเร็ง Sanook! Health มีคำตอบค่ะ
มะเร็งในช่องปาก เกิดขึ้นได้อย่างไร?
มะเร็งในช่องปากมีหลายสาเหตุ ดังนี้
- สูบบุหรี่
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- กิน หรือเคี้ยวหมาก พลู ยาฉุน ยาเส้น เป็นประจำ เนื่องจากมีสารก่อมะเร็งเจือปนอยู่
- เยื่อเมือกบุช่องปากมีอาการระคายเคือง เนื่องจากมีฟันหัก ฟันบิ่น แล้วไม่ได้รับการรักษา หรือฟันผุรุนแรง จนทำให้เหงือกเป็นหนอง
- ติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น HPV ที่เป็นไวรัสชนิดเดียวกับที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูก ติดต่อได้จากการมีเพศสัมพันธ์โดยใช้ปาก หรือ oral sex
- มีประวัติเป็นโรคมะเร็งบริเวณศีรษะ หรือลำคอมาก่อน
อาการของโรคมะเร็งในช่องปาก
- พบฝ้าขาว หรือฝ้าสีแดง ในเยื่อเมือกบุช่องปาก หรือลิ้น
- มีแผลในช่องปาก ที่รักษาไม่หายเป็นระยะเวลานาน ราว 2-3 สัปดาห์ขึ้นไป
- มีตุ่ม หรือก้อนขนาดใหญ่ขึ้นในช่องปาก
- มีปัญหาในการเคี้ยวอาหาร หรือกลืนอาหาร เนื่องจากพบก้อนเนื้อในช่องปาก
- มีเลือดออกมากผิดปกติ จากบาดแผลในช่องปาก
วิธีป้องกันจากโรคมะเร็งในช่องปาก
ปัจจุบันไม่มีวิธีป้องกันจากโรคมะเร็งในช่องปากอย่างชัดเจน ทำได้เพียงหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งในช่องปากทั้งหลาย เช่น
- งดดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่
- เมื่อพบแผลในช่องปาก รีบรักษาให้หาย หากไม่หาย หรือไม่ดีขึ้นภายในเวลา 1 สัปดาห์ ให้รีบพบแพทย์
- เมื่อพบฟันโยก ฟันหัก ฟันบิ่น ฟันผุ ให้รีบเข้ารับการรักษาทางแพทย์
- รักษาความสะอาดของฟัน เหงือก และช่องปากเป็นประจำ แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้าและก่อนนอน และใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำ อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง เพื่อดึงเศษอาหารออกจากซอกฟันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ตรวจฟันเป็นประจำทุก 6 เดือน - 1 ปี