แพทย์เผย 5 กลุ่มผู้ป่วย “โควิด-19” พร้อมวิธีรักษาในแต่ละกลุ่ม
นายแพทย์สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กล่าวว่า ในการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 (COVID-19) จะแบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มที่ 1 ไม่มีอาการ
กลุ่มนี้จะมีราว 20% ของผู้พบเชื้อ จะต้องรับไว้สังเกตอาการในโรงพยาบาล 2-7 วัน หากไม่มีอาการ จะส่งเข้ารับการสังเกตอาการต่อในหอผู้ป่วยเฉพาะ หรือโรงพยาบาลเฉพาะกิจ เช่น โรงแรมที่เรียกว่า ฮอสพิเทล (Hospitel) จนครบอย่างน้อย 14 วันนับจากตรวจพบเชื้อ เมื่อหายกลับบ้าน สามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติ แต่จะต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ออกไปนอกบ้าน แยกตัวเองจากบุคคลอี่นอยู่ห่าง 2 เมตร แยกห้องทำงาน ไม่กินอาหารร่วมกัน จนครบ 1 เดือน
กลุ่มที่ 2 อาการไม่รุนแรงคล้ายไข้หวัด
ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีภาพถ่ายรังสีปอดปกติ ไม่มีปัจจัยเสี่ยง คือ อายุมากกว่า 60 ปี มีโรคประจำตัว เช่น ภาวะอ้วน ภูมิคุ้มกันต่ำ โรคปอดเรื้อรังหรือถุงลมโป่งพอง โรคไตวายเรื้อรัง ตับแข็ง โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมองตีบ หรืออัมพาต รักษาตามอาการหรือพิจารณาให้ยารักษาไวรัสในโรงพยาบาล 2-7 วัน จากนั้นจะส่งเข้าสังเกตอาการต่อในฮอสพิเทล (Hospitel) จนครบอย่างน้อย 14 วันนับจากมีอาการ และเมื่อหายกลับบ้านจะต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับกลุ่ม 1
กลุ่มที่ 3 อาการไม่รุนแรงคล้ายไข้หวัด
ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีภาพถ่ายรังสีปอดปกติ แต่มีปัจจัยเสี่ยง ให้ยารักษาไวรัสในโรงพยาบาลและติดตามภาพถ่ายรังสีปอด หากภาพถ่ายรังสีปอดปกติ วัน จากนั้นจะส่งเข้าสังเกตอาการต่อในฮอสพิเทล (Hospitel) จนครบอย่างน้อย 14 วันนับจากมีอาการ และเมื่อหายกลับบ้านจะต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับกลุ่ม 1 และ 2
กลุ่มที่ 4 ปอดอักเสบไม่รุนแรง
ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีอยู่ราว 12% ของผู้พบเชื้อ ให้ยารักษาไวรัสในโรงพยาบาล
กลุ่มที่ 5 ปอดอักเสบรุนแรง
พบราว 3% ของผู้พบเชื้อ ให้ยารักษาไวรัสในห้องไอซียู
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากข้อมูลของผู้ติดเชื้อมากกว่า 50% อยู่ในช่วงอายุ 20-50 ปี และในกลุ่มผู้เสียชีวิตมีจำนวนหนึ่งที่อยู่ในช่วงอายุ 50 ปี ยังไม่เกิน 60-70 ปี อีกกลุ่มคือมีโรคประจำตัว และอีกกลุ่มเกิดจากการรับเชื้อมากเกินไป เพราะฉะนั้นการที่ไปอยู่ในสถานที่ที่แนะนำว่าไม่ควรเข้า เช่น ผับ สถานที่แออัด คับแคบ หรือไปในที่ชุมชนบ่อยๆ โอกาสรับเชื้อมากก็จะเสียชีวิตได้
ที่สำคัญคือ ผู้ที่เข้ารับการตรวจ รักษา รวมถึงผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เมื่อพบแพทย์เพื่อทำการตรวจร่างกาย และวินิจฉัยโรคแล้ว ควรตอบคำถามเจ้าหน้าที่ และให้ข้อมูลตามตรง ไม่ปกปิด เพื่อการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องแม่นยำที่สุด