10 คำถามกับโรค "โควิด-19" ที่หลายคนสงสัย
-
การว่ายน้ำในสระที่มีคลอรีน อาจมีความเสี่ยงในการติดโรคโควิด-19 ถึงแม้ว่าคลอรีนในสระว่ายน้ำมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อไวรัสและลดการแพร่เชื้อลงได้ แต่ถ้าหากว่ายน้ำสระเดียวกันกับคนติดเชื้อ และไปอยู่ใกล้ตอนที่ไอหรือจาม ก็สามารถมีโอกาสติดเชื้อได้
-
ถ้าต้องเลือกซื้ออาหารจากร้าน เราสามารถลดโอกาสเสี่ยงได้โดย เลือกเมนูอาหารที่ปรุงสุก ด้วยความร้อนอุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส ขึ้นไป ล้างมือก่อนทานอาหารทุกครั้ง หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ 70 % ขึ้นไป หรือล้างมือด้วยสบู่นานอย่างน้อย 20 วินาที
เนื่องจากโรคโควิด-19 ที่เกิดจากเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 เป็นโรคอุบัติใหม่ และยังไม่มีข้อมูล หรืองานวิจัยใดๆ มากนัก ในช่วงสถานการณ์ที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 หลายๆ คนอาจจะมีคำถามชวนสงสัย เราจึงควรรับข้อมูลข่าวสารจากแหล่งที่เชื่อถือได้
สำหรับคำถามที่ถูกถามบ่อย นพ. ไพศิษฐ์ ตระกูลก้องสมุท แพทย์ด้าน เวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ รพ. สมิติเวช สุขุมวิท, พญ. อรอุมา บรรพมัย แพทย์ด้านโรคติดเชื้อ รพ. สมิติเวช สุขุมวิท และ นพ. กิตติพงษ์ คงจันทร์ แพทย์ด้านโรคติดเชื้อ รพ. สมิติเวช ศรีนครินทร์ มีคำตอบให้สำหรับคำถามที่น่าสนใจ ดังนี้
-
เป็นไปได้หรือไม่ที่หนุ่มสาวที่ได้รับเชื้อ เป็นคนแข็งแรงและไม่มีอาการ จึงไม่ไปตรวจ และหายเองได้ เนื่องจากดูแลตัวเองดี
เป็นไปได้ เพราะอาจจะได้รับเชื้อมาน้อยและมีสุขภาพดี ภูมิต้านทานในร่างกายยังปกติ จึงสามารถหายได้เอง
แต่ทั้งนี้หากใครก็ตามได้ไปในพื้นที่เสี่ยง แม้จะยังมีสุขภาพดี ก็ควรรับผิดชอบต่อสังคม โดยการอยู่บ้านติดตามอาการเป็นเวลา 14 วัน หากมีอาการ เช่น มีไข้ ไอ หายใจหอบเหนื่อย ควรรีบไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจยืนยันและรีบทำการรักษาหากตรวจพบเชื้อ
-
ถ้าพ่อครัวที่ปรุงอาหารมีเชื้อไวรัส แต่ไม่รู้ตัว แล้วไอลงกระทะตอนทำอาหาร ความร้อนจากการทำอาหารสามารถฆ่าเชื้อได้หรือไม่
ความร้อนขนาดที่อาหารสุก ทำให้ไวรัสตายได้ แต่ให้ระวังเรื่องการกินช้อนใครช้อนมัน และทานเฉพาะอาหารของตนเอง และอย่าลืมหมั่นล้างมือเพื่อป้องกันด้วย เพราะการล้างมือสำคัญที่สุด
-
การใช้หน้ากากอนามัยซ้ำ เช่น ใช้ไปเเล้ว 2-3 วัน แล้วนำหน้ากากอนามัยนั้นไปตากเเดด พร้อมวางไว้ในที่สะอาดๆ 9-10 วัน (อ้างอิงจากคำกล่าวที่ว่า เชื้อไวรัสมีชีวิตอยู่บนวัสดุ หรือพื้นผิวได้ 9-10วัน) สามารถนำหน้ากากอนามัยอันนี้มาใช้ต่อได้หรือไม่
หากเป็นหน้ากากอนามัยแบบผ้า สามารถนำมาซักแล้วใช้ซ้ำได้ แต่ถ้าเป็นหน้ากากอนามัยแบบกระดาษ หน้ากากอนามัยคาร์บอน รวมถึงหน้ากากอนามัย N95 ซึ่งออกแบบมาสำหรับใช้แล้วทิ้ง ควรเปลี่ยนใหม่ทุกวัน แต่ถ้าใช้หน้ากากช่วงเวลาสั้นๆ ก็อาจนำมาใส่ซ้ำได้ แต่ควรตรวจดูสภาพของหน้ากากก่อนว่าชำรุดหรือไม่ หรือมีการปนเปื้อนน้ำลาย น้ำมูก เสมหะหรือไม่ ถ้าเป็นไปตามที่กล่าว การเก็บไว้อาจทำให้เชื้อจำพวกแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ ควรทิ้งไปจะดีกว่าเพื่อความปลอดภัยของตัวเราเอง เสมือนการที่เรานำเสื้อที่ไปเล่นกีฬาแล้วเปียกเหงื่อ เจอมลพิษ มาตากแดดให้แห้ง แต่เสื้อนั้นอาจจะยังมีการสะสมของแบคทีเรียเพิ่มมากขึ้น จะยิ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียต่างๆ ได้ และตอนนี้ยังไม่มีการวิจัยออกมายืนยันว่า การใช้หน้ากากซ้ำนั้นจะปลอดภัยและช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัส แม้จะผ่านการตากแดดมาแล้วก็ตาม
-
โควิด-19 มีผู้ติดเชื้อเป็นเด็ก (0-12 ปี) มากน้อยขนาดไหน เช่น ข่าวดาราที่ลูกไม่ติดเชื้อ เด็กนักเรียน หลานที่ปู่ย่าไปญี่ปุ่นมาก็ไม่ติดเชื้อเหมือนกัน
โดยปกติแล้ว เด็กๆ มีโอกาสติดโรคโควิด-19 ได้เทียบเท่ากับผู้ใหญ่ แต่จากข่าวที่ไม่พบว่าเด็กติดเชื้อจากพ่อแม่ หรือ ปู่ ย่า ตามที่ถาม อาจเป็นไปได้หลายปัจจัย อาทิ เด็กอาจได้รับเชื้อมาน้อย และเด็กก็มีภาวะเเทรกซ้อนน้อยไม่เหมือนกลุ่มผู้สูงอายุ อีกเหตุผล คือเด็กไม่ค่อยได้ออกไปเข้าสังคมที่ไหนเหมือนผู้ใหญ่ ที่ต้องไปพบปะกัน ใกล้ชิด สังสรรค์ แต่หากเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี แล้วมีโรคปอดเรื้อรัง และมีอาการปอดอักเสบอยู่แล้ว อาจมีอาการที่รุนแรงได้ ควรเพิ่มความระมัดระวัง
-
โควิด-19 สามารถแพร่กระจายในสระว่ายน้ำที่มีคลอรีนได้หรือไม่
เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การทำกิจกรรมในที่สาธารณะก็มีความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ คลอรีนในสระว่ายน้ำมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อไวรัส และทำให้ประสิทธิภาพในการแพร่เชื้อลดลงอย่างมาก แต่ถ้าไปว่ายน้ำสระเดียวกันกับคนติดเชื้อ และไปอยู่ใกล้ตอนที่ไอหรือจาม ก็สามารถมีโอกาสติดเชื้อได้
-
มีการใช้หน้ากากอนามัยเป็นจำนวนมาก มีวิธีจัดการอย่างไรกับขยะจากหน้ากาก หรือต้องแยกทิ้งอย่างไร ถ้าทิ้งที่กองขยะ คนเก็บขยะจะทำอย่างไร
การทิ้งและจัดการกับหน้ากากที่ใช้เเล้ว ให้ม้วนด้านใน (ด้านสีจาง หรือด้านที่สัมผัสกับปากและจมูก) เข้าให้มิดชิด ใส่ถุงพลาสติก แล้วมัดปากให้แน่น ทิ้งในถังขยะที่มีฝา ก่อนทิ้งอาจเขียนหรือทำเครื่องหมายไว้ด้วยว่าเป็นขยะติดเชื้อ อันตราย
-
ทำไมเชื้อไวรัสกินปอดแล้ว ปอดจึงฟื้นฟูกลับมาเหมือนเดิมไม่ได้ จากที่เคยรู้มาว่า อวัยวะภายในของคนเรามี 2 อย่างที่เสียหายแล้วจะสามารถกลับมาฟื้นฟูเหมือนเดิมได้คือ ตับกับปอด และคนที่เคยเป็นวัณโรคมาก่อน ขณะเป็นก็ถูกเชื้อ TB กินปอดอย่างหนักหน่วง แต่พอหายแล้ว ปอดก็ฟื้นฟูกลับคืนสภาพเดิมได้ แต่ทำไมหมอและนักวิชาการหลายท่านออกมาพูดว่า เมื่อโรคโควิด-19 กินปอดแล้ว ปอดจะเสียหายถาวร เมื่อปอดมันฟื้นฟูตัวเองได้ และผู้ที่เคยป่วยเป็นวัณโรค เมื่อหายปอดก็สามารถฟื้นฟูกลับมาเหมือนเดิมได้ ทำไมมันจึงต่างกัน
โดยตามธรรมชาติของโรคโควิด-19 ผู้ป่วยส่วนใหญ่ 80% อาการไม่รุนแรง มีเพียง 10% ที่เกิดอาการรุนแรง และเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบ หรือเกิดภาวะที่เนื้อปอดถูกทำลาย และ 2-3% ที่เสียชีวิต
ซึ่งในกลุ่มที่มีอาการรุนแรง และพบว่าเชื้อลงไปที่ปอด ก็ทำให้เกิดการทำลายเนื้อที่ปอดได้เหมือนกับการติดเชื้อที่ปอดจากเชื้ออื่นๆ เมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษา จนอาการดีขึ้น เนื้อปอดก็สามารถฟื้นกลับมาได้
สรุปแล้ว การที่ปอดถูกทำลายมากหรือน้อย เกิดจากหลายปัจจัย เช่น จากตัวเชื้อโรคเอง การติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน ระบบการตอบสนองภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยเอง เป็นต้น ถ้าปอดถูกทำลายน้อย หรือมีความผิดปกติน้อย เนื้อปอดส่วนใหญ่ที่เหลืออยู่ก็จะทำงานได้เป็นปกติ ส่วนในกลุ่มที่ปอดถูกทำลายมาก ๆ จนไม่สามารถฟื้นตัวได้นั้น พบได้เป็นเพียงส่วนน้อย
-
ระหว่างเดินทางโดยเครื่องบิน 1 ชั่วโมงกับโดยสารกับรถทัวร์ 8 ชั่วโมง แบบไหนมีความเสี่ยงติดโรคโควิด-19 มากกว่ากัน ถ้าตัดเรื่องอุบัติเหตุอื่นๆออกไป
การติดต่อของโรคภายในห้องโดยสารเครื่องบินมีความเสี่ยงค่อนข้างน้อย อากาศที่ส่งผ่านบนเครื่องบินจะมีการควบคุมอย่างระมัดระวัง เครื่องบินโดยสารในยุคปัจจุบันมีระบบตัวกรองอากาศที่มีประสิทธิภาพสูงซึ่งเป็นชนิดเดียวกันในโรงพยาบาลที่ใช้ดักจักฝุ่นละอองแบคทีเรียเชื้อราและไวรัส แต่ทั้งนี้การแพร่เชื้ออาจเกิดขึ้นจากผู้โดยสารที่นั่งใกล้ผู้ป่วยและได้รับสารคัดหลั่งจากการ ไอหรือจามหรือติดเชื้อจากการสัมผัสแต่ละบุคคล ส่วนในรถทัวร์ที่มีความแออัดและใช้เวลาเดินทางมากกว่า มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสมากกว่าโดยสารโดยเครื่องบิน
ในขณะเดียวกันหากมีความจำเป็นต้องโดยสารขนส่งสาธารณะต้องมีความพร้อมด้วยการสวมหน้ากากอนามัยและเลี่ยงการสัมผัสในจุดที่ไม่จำเป็น
-
ช่วงโควิด-19 ระบาด ร้านตามสั่งยังปลอดภัยอยู่หรือไม่
การทำอาหารทานเองที่บ้านจะปลอดภัยมากกว่า แต่ถ้าต้องเลือกซื้ออาหารจากร้าน เราสามารถลดโอกาสเสี่ยงได้โดย เลือกเมนูอาหารที่ปรุงสุก ด้วยความร้อนอุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป ล้างมือก่อนทานอาหารทุกครั้ง หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ 70 % ขึ้นไป หรือล้างมือด้วยสบู่อย่างน้อย 20 วินาที
-
กินมาม่าวันละ 2 มื้อติดต่อกันมา 3 วันแล้ว เรากินมาม่าติดต่อกันเรื่อยๆ ได้กี่วัน
ในช่วงนี้หลายบ้านอาจตุนอาหาร เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไว้ทานหลายๆ วัน ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 1 ซอง ให้โซเดียมประมาณ 50-70% ของปริมาณที่ควรได้รับต่อวัน ปกติโซเดียมที่ควรได้รับต่อวันคือ ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม ถึงแม้ยังไม่มีข้อห้ามในการกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปว่าได้ติดต่อกันกี่วัน แต่ควรกินไม่เกินวันละ 1 ซอง เพราะเราจะยังได้โซเดียมจากอาหารชนิดอื่นๆ ด้วย การที่ร่างกายรับโซเดียมมากเกินไปทำให้ระยะยาวเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคไต และโรคหัวใจในอนาคต
ทั้งนี้ข้อแนะนำเบื้องต้นเป็นไปตามสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากเชื้อ SARS-CoV2 เป็นเชื้ออุบัติใหม่ มาตรฐานและคำแนะนำอื่นๆ จากผู้เชี่ยวชาญ หรือองค์กรต่างๆ อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไป ตามงานวิจัยที่มีขึ้นในอนาคต