จะเกิดอะไรขึ้น ถ้า “โควิด-19” ยังระบาด แต่เราไม่ “กักตัว-social distancing”?
ในขณะที่คนจำนวนมากกำลังช่วยกันหยุดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 (COVID-19) ด้วยการกักตัวเอง (self-quarantine) และการทำ social distancing หรือการเว้นระยะห่างระหว่างกัน (ทางร่างกาย) แต่เราจะยังเห็นทั้งในชีวิตจริง และตามหน้าข่าวว่ายังมีคนบางกลุ่มไม่เห็นความสำคัญของการกักตัวเองหลังไปพื้นที่เสี่ยง และไม่สนใจการรักษาระยะห่างระหว่างกัน ยังคงนัดเจอเพื่อน กลับจากพื้นที่เสี่ยงแต่ยังนั่งกินข้าวใกล้ๆ คนที่บ้าน เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเราจะไม่ได้กำลังแพร่เชื้อโควิด-19 อยู่
-
ไขข้อสงสัย “โควิด-19” พฤติกรรมใดเสี่ยง-ไม่เสี่ยงติดเชื้อไวรัสบ้าง?
-
โควิด-19: Social Distancing คืออะไร ต้องอยู่ห่างกันแค่ไหนถึงจะไม่ติดไวรัส
จะเกิดอะไรขึ้น ถ้า “โควิด-19” ยังระบาด แต่เราไม่ “กักตัว-social distancing”?
- แพร่เชื้อให้ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องโดยไม่รู้ตัว
ไม่มีอาการ ไม่ได้แปลว่าไม่ติดเชื้อ ไม่ต้องรอให้มีอาการคล้ายเป็นไข้หวัดก่อนแล้วค่อยกักตัว เพราะเชื้อไวรัสมีระยะฟักตัว 14-21 วัน นั่นหมายความว่าคุณอาจติดเชื้อไวรัสแล้วแต่ยังไม่แสดงอาการเท่านั้นเอง ระหว่างนั้นคุณสามารถเป็นผู้แพร่เชื้อไวรัสได้อย่างเต็มที่ การพูดคุยใกล้ๆ กัน จาม ไอ อยู่ในห้องเดียวกัน ร่วมโต๊ะรับประทานอาหารร่วมกัน ใช้ช้อน ส้อม หลอดดูดน้ำ แก้วอันเดียวกัน ฯลฯ ทั้งหมดนี้สามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นได้โดยที่คุณเองก็ไม่รู้ตัว กว่าจะรู้อาจจะสายไปเสียแล้ว
เหมือนเรื่องที่เกิดขึ้นกับคุณแม่ท่านหนึ่งที่ร่างกายแข็งแรงปกติดี แต่ติดเชื้อจากลูกสาวที่เพิ่งกลับจากต่างประเทศ อยู่ด้วยกันโดยไม่ได้กักตัวก่อนเพราะตัวลูกสาวดูมีร่างกายแข็งแรงปกติดีไม่มีอาการใดๆ สุดท้ายลูกสาวมีอาการคล้ายหวัดในภายหลัง คุณแม่รีบแยกตัวจากลูกสาวแต่ไม่ทันการณ์ เพราะคุณแม่ติดเชื้อจากลูกสาวแล้วเรียบร้อย และมีอาการหนักจนต้องเข้าห้องไอซียู
- เพิ่มจำนวน Super Spreader จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ถ้ายังจำกันได้ ในช่วงที่ในประเทศเกาหลีใต้มีการระบาดของโควิด-19 หนักๆ มีการพูดถึงในโลกออนไลน์อย่างหนักถึงคำว่า Super Spreader หมายถึง คนที่เป็นต้นเหตุในการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสจากคนเดียวสู่คนนับร้อยนับพันโดยไม่รู้ตัว (หรือรู้ว่าตัวเองไม่ปกติ แต่ยังใช้ชีวิตอย่างไม่ระมัดระวัง) โดยกรณีของประเทศเกาหลีใต้เป็นคุณป้าที่ปกปิดข้อมูลว่าเคยไปต่างประเทศ เป็นหวัดแต่ยังไปทำกิจกรรมร่วมกับคนมากมายที่โบสถ์ และเดินทางไปที่ต่างๆ ผ่านรถสาธารณะ ในขณะที่ประเทศไทยก็มีการระบาดของคนที่เข้าชมการแข่งขันมวยในสนามมวย ที่ทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นสูงในระยะเวลาอันรวดเร็ว ทั้งหมดเกิดขึ้นจากการไม่ตระหนักถึงความเสี่ยงของตัวเองว่าจะติดเชื้อ และยังไม่ระมัดระวังที่จะใส่หน้ากาก ล้างมือ แชร์สิ่งของร่วมกัน หรือใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน
- จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น ทั้งๆ ที๋โรคไม่ได้รุนแรง
เมื่อไรที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาล ห้องต่างๆ จะไม่เพียงพอแล้ว ถึงแม้อัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 จะไม่ได้สูงมากเท่าโรคติดต่ออื่นๆ แต่หากผู้มีความเสี่ยงจำนวนมากติดเชื้อ แล้วเข้าถึงการรักษาไม่ทัน ก็เสี่ยงทำให้เสียชีวิตได้ นั่นทำให้ตัวเลขของผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นโดยไม่ใช่เหตุ
ใครควรกักตัวบ้าง?
- เพิ่งเดินทางกลับจากประเทศที่มีความเสี่ยง หรือมีการระบาดของเชื้อไวรัส
- ติดต่อ ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน กับผู้ที่ถูกวินิจฉัยจากแพทย์แล้วว่าติดเชื้อ
- เพิ่งไปในสถานที่ที่มีการประกาศว่าเป็นสถานที่เสี่ยงติดเชื้อ หรือแพร่กระจายของเชื้อ เช่น สนามมวย เที่ยวบินที่พบผู้ติดเชื้อ ฯลฯ
- มีอาการไข้หวัด เจ็บคอ ไอ จาม มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ
ใครควรรักษาระยะห่างจากคนอื่นบ้าง (social distancing)
ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย (ยกเว้นเด็กเล็กที่ผู้ดูแลต้องรักษาสุขภาพ และรักษาความสะอาดของตัวเองเป็นพิเศษ รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องรักษาผู้ป่วย) จนกว่าจะมีการประกาศเพิ่มเติมจากรัฐบาล
“อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” เพียงลดการเดินทางให้น้อยลง อยู่กับที่ แยกตัวออกห่างจากคนอื่นๆ ในระยะ 1.5-2 เมตร เท่านี้ก็ช่วยลดการระบาดของโรคไม่ให้ลุกลามอย่างรวดเร็วได้แล้ว