วิจัยพบ "ท้องเสีย" อีกหนึ่งอาการโรค "โควิด-19"
งานวิจัยใหม่พบว่า นอกจากมีไข้ ไอ จาม เหนื่อยหอบ รวมถึงประสาทรับรู้กลิ่นไม่ปกติแล้ว ยังอาจมีอาการท้องเสียได้ในบางรายที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 (COVID-19)
งานวิจัยที่เตรียมตีพิมพ์ลง The American Journal of Gastroenterology เผยว่า ในผู้ติดเชื้อโควิด-19 บางรายที่มีอาการไม่หนักมาก อาการปอดอักเสบ รวมถึงอาการที่แสดงให้เห็นถึงความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจต่างๆ อาจจะแสดงออกมาให้เห็นในภายหลัง หรือในบางรายอาจไม่แสดงให้เห็นอาการที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจเลยก็ได้
เพราะฉะนั้นในบางรายที่ติดโควิด-19 แต่ไม่แสดงอาการที่เราทราบกันดีอย่าง มีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก และหายใจหอบเหนื่อย อาจไม่รู้ตัวว่าตัวเองติดเชื้อ และมีโอกาสที่จะแพร่เชื้อไวรัสให้คนอื่นโดยไม่รู้ตัวได้
ดังนั้นจึงมีคำแนะนำว่า เราไม่ควรละเลยกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีอาการดังกล่าว แต่มีความผิดปกติของระบบย่อยอาหารอย่างกะทันหัน และเป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อไวรัสด้วย
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอีกฉบับที่ตีพิมพ์ในวารสารเดียวกัน ระบุว่า ในกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 200 รายในโรงพยาบาลที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ราว 50% มีรายงานว่ามีอาการผิดปกติของระบบย่อยอาหาร และ 18% พบว่ามีอาการท้องเสีย อาเจียน หรือปวดท้อง แต่รายงานฉบับนี้ให้ความสนใจเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการหนัก มากกว่ากลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการไม่หนักมาก
แต่ในรายงานวิจัยฉบับใหม่นี้ นักวิจัยวิเคราะห์ข้อมูลจากผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 206 รายที่ Union Hospital, Tongji Medical College ในเมืองอู่ฮั่น ที่ใช้เป็นที่รักษาผู้ป่วยโควิด-19 โดยกลุ่มผู้ป่วยนี้จะมีเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการไม่หนัก และไม่มีปัญหาเรื่องการหายใจ หรือระดับออกซิเจนในร่างกายต่ำ
จากการเก็บข้อมูลพบว่า ผู้ป่วย 48 ราย (23%) รับว่ามีปัญหากับระบบย่อยอาหารเท่านั้น ผู้ป่วย 89 คน (43%) ให้ข้อมูลว่ามีปัญหากับระบบทางเดินหายใจเท่านั้น และผู้ป่วย 69 คน (33%) ให้ข้อมูลว่ามีปัญหาทั้งระบบทางเดินหายใจ และระบบย่อยอาหาร
จากผู้ป่วยทั้งหมด 117 รายที่มีระบบย่อยอาหารผิดปกติ ราว 67 คน (58%) มีอาการท้องเสีย และ 13 คน (20%) มีอาการท้องเสียเป็นอาการแรกที่เริ่มมีอาการป่วย พบว่าผู้ป่วยมีอาการท้องเสียได้ตั้งแต่วันแรกยาวไปจนถึงวันที่ 14 เฉลี่ยแล้ว 5 วันที่มีอาการ และ 1 ใน 3 ของผู้ที่มีอาการท้องเสียทั้งหมดไม่เคยมีไข้เลย
และด้วยเหตุที่ไม่พบว่าตัวเองมีไข้ จึงทำให้ผู้ที่มีอาการท้องเสียเป็นอาการแรกๆ เข้าพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจช้ากว่าผู้ติดเชื้อที่มีอาการไข้ เฉลี่ยแล้วจะพบแพทย์เมื่อเริ่มมีอาการราว 16 วัน (ในขณะที่คนที่มีไข้ หรือมีปัญหาที่ระบบทางเดินหายใจจะพบแพทย์เมื่อพบอาการราว 11 วัน) นอกจากนี้ผู้มีปัญหาที่ระบบย่อยอาหารจะใช้เวลาในการกำจัดเชื้อไวรัสออกจากร่างกาย (ผลตรวจโควิด-19 เป็นลบ) นานกว่าผู้ติดเชื้อคนอื่น เฉลี่ยแล้วใช้เวลาไปราว 41 วัน ในขณะที่ผู้ป่วยที่มีอาการที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจจะใช้เวลาเพียง 33 วัน
นอกจากนี้จากในงานวิจัยยังระบุอีกว่า มีการตรวจพบเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 หรือเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ใหม่นี้ในอุจจาระของผู้ป่วยติดเชื้อที่มีอาการผิดปกติของระบบย่อยอาหารอีกด้วย (ราว 73% ของผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติของระบบย่อยอาหารทั้งหมด เมื่อเทียบกับ 14% ของผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติทางระบบหายใจเพียงอย่างเดียว) แต่ทั้งนี้ยังไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมว่าเชื้อไวรัสส่งผลอย่างไรต่อระบบทางเดินอาหารหรือไม่
สรุปแล้ว จากข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่า มีผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการท้องเสียเป็นอาการแรกๆ แม้ว่าจะไม่มีไข้ ไม่มีอาการไอ จาม เจ็บคอ น้ำมูกไหล หรือหายใจเหนื่อยหอบแต่อย่างใด และหากเป็นไปได้ ควรตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทั้งในระบบทางเดินหายใจ และอุจจาระด้วย