เตือนภัย! อาหารกระป๋อง เลือกไม่ดี ทานไม่ถูกวิธี เสี่ยงติดเชื้อเสียชีวิต
ใครๆ ก็ทราบดีว่าอาหารกระป๋องเป็นอาหารที่ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ในยากลำบาก ตกทุกข์ได้ยาก ด้วยความที่มีอายุในการเก็บนาน สะดวกต่อการบริโภค เพราะปรุงสุกมาเรียบร้อย มีให้เลือกทานหลากหลายเมนู และราคาไม่แพงมากจนเกินไป แต่หากเลือกทานอย่างไม่ระวัง อาจจบลงที่การเสียชีวิตจากการติดเชื้อ ที่พบได้ในอาหารกระป๋องสำเร็จรูปทั่วไป
อาหารกระป๋อง มีอันตรายอย่างไรบ้าง?
อาหารกระป๋องถึงแม้ว่าจะผ่านกระบวนการผตลิตที่ทันสมัย และบรรจุอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่แน่นหนา แต่มีส่วนประกอบที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย หากผู้ผลิตเลือกใช้วัสดุ และวัตถุดิบในการประกอบอาหารไม่ได้คุณภาพ เช่น
- สีเคลือบภายในกระป๋อง
- วัตถุกันเสีย หรือสารกันบูด
- สีผสมอาหาร
- เชื้อแบคทีเรียคลอสตริเดียม โบทูลินัม ที่อาจขึ้นระหว่างกระบวนการผลิต หากมีการฆ่าเชื้อที่ไม่สมบูรณ์ เช่น ใช้เวลาในการฆ่าเชื้อน้อยเกินไป หรืออุณหภูมิที่ไม่ร้อนเพียงพอ หรืออาจมาจากเครื่องจักร และผู้ควบคุมการผลิตที่ไม่ถึงมาตรฐาน แบคทีเรียชนิดนี้ก็อาจเจริญเติบโตขึ้นได้
ตัวอย่างอาหารกระป๋องที่อาจพบเชื้อแบคทีเรีย หากผลิตอย่างไม่ถูกต้องตามมาตรฐาน
ปลากระป๋อง ผักกระป๋อง ผลไม้กระป๋อง หน่อไม้อัดปี๊บ อาหารทะเลกระป๋องแกงสำเร็จรูปกระป๋อง ข้าวโพดกระป๋อง เนื้อสัตว์แปรรูปกระป๋อง ซอสต่างๆ ฯลฯ
อาการของผู้ที่ได้รับเชื้อแบคทีเรีย ที่พบในอาหารกระป๋อง
- ปวดท้อง ท้องร่วง
- ท้องอืด อาหารไม่ย่อย
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ปากแห้ง
- เสียงแหบ
- แขนขาอ่อนแรง
- เจ็บคอ
- เห็นภาพซ้อน
- อื่นๆ
วิธีเลือกทานอาหารกระป๋องให้ปลอดภัย ไร้อันตราย
1. เลือกทานแต่อาหารกระป๋องที่มีเครื่อง อย. ชัดเจน
2. เลือกซื้ออาหารกระป๋องที่ไม่หมดอายุ
3. สภาพของกระป๋องต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่บุบ เบี้ยว บวม สนิมขึ้น ส่วนใดส่วนหนึ่งเปิด มีรอยรั่ว
4. อุ่นอาหารกระป๋องก่อนทานด้วยเวลาไม่น้อยกว่า 5-10 นาที ด้วยอุณหภูมิมากกว่า 80 องศาเซลเซียส
อย่างไรก็ตาม หากสามารถหาอาหารสดทานได้ ก็จะเป็นผลดีต่อร่างกายมากกว่านะคะ เพราะไม่มีอาหารไหนที่อร่อย และให้คุณค่าทางสารอาหารครบได้มากกว่าอาหารที่ปรุงสุก สดใหม่แน่นอน นอกจากนี้ยังหลีกเลี่ยงการบริโภควัตถุกันเสีย สารกันบูด และสารปรุงแต่งอื่นๆ โดยไม่จำเป็นได้อีกด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก www.fda.moph.go.th, techno.msu.ac.th
ภาพประกอบจาก istockphoto