อันตรายจาก "เจล-แอลกอฮอล์ปลอม" เสี่ยงมีพิษต่อร่างกาย-ตาบอดได้

อันตรายจาก "เจล-แอลกอฮอล์ปลอม" เสี่ยงมีพิษต่อร่างกาย-ตาบอดได้

อันตรายจาก "เจล-แอลกอฮอล์ปลอม" เสี่ยงมีพิษต่อร่างกาย-ตาบอดได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ระวังเจลล้างมือ และแอลกอฮอล์ปลอมที่อาจพบได้ในท้องตลาดในช่วงโควิด-19 ระบาด อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้มากกว่าที่คุณคิด

ในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 (COVID-19) การซื้อหาเจลล้างมือ และสเปรย์แอลกอฮอล์อย่างทันทีทำให้สินค้าขาดตลาด และส่งผลให้มีผู้ผลิตหัวใส แอบใส่ส่วนผสมปลอมที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ได้ สำนักอนามัย จึงมีคำเตือนมาฝากผู้บริโภคทุกคนว่า เจล-แอลกอฮอล์ปลอม มีพิษต่อร่างกายรุนแรงมาก สามารถดูดซึมผ่านทางผิวหนังและลมหายใจ หากสัมผัสในปริมาณมาก อาจทำให้ถึงขั้นตาบอดได้


เจลล้างมือ-สเปรย์แอลกอฮอล์ ถือเป็นเครื่องสำอางชนิดหนึ่ง

ภกญ.บุญญวรรณ เต็งตระกูล ผู้อำนวยการกองเภสัชกรรม สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สเปรย์หรือเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ทาง อย.ระบุถือเป็นเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ ดังนั้นจึงถือว่าสเปรย์หรือเจลแอลกอฮอล์ สำหรับล้างมือเป็นเครื่องสำอางชนิดหนึ่ง ใช้วิธีการตรวจสอบแบบเดียวกับเครื่องสำอาง


ชนิดของแอลกอฮอล์ที่อยู่ใจเจลล้างมือ-สเปรย์แอลกอฮอล์

ปัจจุบันแอลกอฮอล์ที่นำมาทำเป็นสเปรย์หรือเจล จะเป็นประเภทเอธิลแอลกอฮอล์หรือเอทานอล ซึ่งได้จากการหมักพืช อาทิ อ้อย น้ำตาล และ ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ หรือไอโซโพรพานอล ซึ่งแอลกอฮอล์เหล่านี้จะไม่เป็นอันตรายต่อผิวหนังของมนุษย์


อันตรายจากการใช้แอลกอฮอล์ผิดประเภทในเจลล้างมือ-สเปรย์แอลกอฮอล์

ที่ผ่านมาพบว่า มีผู้ผลิตสเปรย์หรือเจลแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือ นำแอลกอฮอล์อีกประเภทคือ เมทิล แอลกอฮอล์หรือเมทานอล ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ที่ใช้ในอุตสาหกรรม อาทิ น้ำมันตะเกียงในห้องทดลองวิทยาศาสตร์ เป็นอันตรายต่อผิวหนัง ทำให้เกิดการระคายเคืองในบริเวณที่โดน และหากดื่มเข้าไปในปริมาณมากอาจเสี่ยงตาบอดหรือเสียชีวิตได้ แต่เนื่องจากสารทั้ง 2 ชนิดมีคุณสมบัติคล้ายกัน ผู้ซื้อไม่สามารถจำแนกได้ด้วยตัวเอง จึงควรอ่านส่วนผสมจากฉลากให้รอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อ


ข้อควรปฏิบัติเมื่อคิดจะซื้อสเปรย์หรือเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ

  1. ควรซื้อจากผู้ขายที่น่าเชื่อถือ มีหลักแหล่งแน่นอน อาทิ ห้างสรรพสินค้า ร้านขายยา

  2. ควรเลือกซื้อสเปรย์หรือเจลแอลกอฮอล์ที่มีฉลากภาษาไทย ระบุชื่อเครื่องสำอาง ชื่อทางการค้า ชื่อ-ที่อยู่ผู้ผลิต ครั้งที่ผลิต วันหมดอายุ คำเตือนต่างๆ หากซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ ควรดูเลขที่จดแจ้งบนผลิตภัณฑ์ให้ชัดเจน เพื่อนำไปตรวจสอบได้รับรองคุณภาพมาตรฐานจาก อย. หรือไม่

  3. ควรขอดูเอกสารระบุรายละเอียดของแอลกอฮอล์ เช่น ใบรับรองผลวิเคราะห์หรือ เอกสารข้อมูลความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เกิดความมั่นใจชนิดและคุณภาพของแอลกอฮอล์

  4. ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีบรรจุภัณฑ์ปิดสนิท สามารถป้องกันการระเหยของแอลกอฮอล์ได้ ไม่เสื่อมสภาพก่อนถึงวันหมดอายุ

  5. ควรเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุ โดยดูได้จาก หากผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือ มีลักษณะที่ผิดปกติ เช่น มีการแยกชั้น จับตัวเป็นก้อน ตกตะกอน เปลี่ยนสี หรือเมื่อผลิตภัณฑ์สัมผัสมือแล้วไม่มีความเย็นจากการระเหยของแอลกอฮอล์ ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว

แต่ต้องยอมรับว่าปัจจุบันเจ้าหน้าที่ยังคงพบปัญหา ดูแค่เลขที่ใบรับแจ้งอาจไม่เพียงพอ เพราะบางยี่ห้อใช้เลขที่ใบรับแจ้งของผลิตภัณฑ์อื่น หรือใช้ใบรับแจ้งของผลิตภัณฑ์ที่ถูกยกเลิกเลขที่ใบรับแจ้งไปแล้ว แต่ยังคงหลงเหลือในท้องตลาด และอาจมีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมไม่ถึง 70%

การตรวจสอบปริมาณแอลกอฮอล์ในผลิตภัณฑ์ว่าถึง 70% หรือไม่ ต้องใช้ผลทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายและกินเวลานาน ดังนั้นก่อนตัดสินใจซื้อควรตรวจสอบเลขที่ใบรับแจ้ง (เลขที่จดแจ้ง) ผ่านทางเว็บไซต์ www.fda.moph.go.th หรือ Oryor Smart Application หรือLine: @FDATHAI หรือ สายด่วน อย.1556

ขอเตือนว่าผู้ผลิตไม่ควรนำเมทิลแอลกอฮอล์ หรือเมทานอล มาเป็นส่วนผสมในการผลิตสเปรย์หรือเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ เพราะต้องการลดต้นทุน เนื่องจากเมทิลแอลกอฮอล์ มีพิษต่อร่างกายรุนแรงมาก สามารถดูดซึมผ่านทางผิวหนังและลมหายใจ ทำให้หลอดลม เยื่อบุตาอักเสบ หากสัมผัสไปในปริมาณมาก ทำให้คลื่นไส้ อาเจียน กล้ามเนื้อกระตุก หายใจลำบาก และอาจตาบอดได้

ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายนำผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่แอลกอฮอล์ แต่ติดฉลากว่าเป็นแอลกอฮอล์แล้วนำมาจำหน่าย โดยผู้ผลิตจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ขายก็จะถูกลงโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกิน 50,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook