ทำไมกลุ่ม Extrovert ถึงได้รับผลกระทบทางจิตใจในช่วง Social Distancing?
คุณเป็นคนมีบุคลิกภาพอย่างไร?
การแบ่งบุคลิกภาพของคนออกจากกันอย่างชัดๆ ที่เราเคยเห็นกัน คือกลุ่มของคน extrovert (ชอบเข้าสังคม) กับ introvert (มีความสุขเมื่อได้อยู่กับตัวเอง) ในรายละเอียดสามารถแบ่งได้ย่อยๆ ลึกลงไปได้มากกว่านี้ แต่หากใครที่รู้ตัวว่าตัวเองเป็นคนติดเพื่อน ติดการพูดคุยกับคนอื่นๆ รักการปาร์ตี้ การเข้าสังคม ไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจหรืออึดอัดหากต้องพบปะกับคนใหม่ๆ คุณอาจมองว่าตัวเป็นคนที่มีบุคลิกภาพแบบ extrovert ได้
แต่ในช่วงที่เราต้องกักตัวอยู่บ้าน ไม่ได้พูดคุยหรือพบปะสังสรรค์กับเพื่อนๆ หรือคนอื่นๆ เป็นเวลานานๆ ในช่วงที่เราต้องอยู่ห่างกันเพื่อการทำ Social Distancing เพื่อลดการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 (COVID-19) ทำเอากลุ่มคน Extrovert จ๋อยไปเหมือนกัน และคนรอบตัวหลายคนก็เริ่มจิตใจห่อเหี่ยว ไปจนถึงเศร้าซึมจนไม่มีกะจิตกะใจจะทำอะไร ใครที่กำลังมีปัญหานี้ มาลองศึกษาคำตอบของสาเหตุที่เกิดความรู้สึกแย่ๆ นี้ขึ้น และวิธีเอาตัวเองออกมาจากปัญหานี้ให้ได้ จาก หมอเอิ้น หรือ พ.ญ. พิยะดา หาชัยภูมิ จิตแพทย์จากโรงพยาบาลพระราม 9 จากรายการ Sanook Call From Nowhere กันได้เลย
ทำไมกลุ่ม Extrovert ถึงได้รับผลกระทบทางจิตใจในช่วง Social Distancing?
คุณหมอเอิ้นระบุว่า กลุ่มคนที่มีบุคลิกภาพแบบ extrovert จะเป็นกลุ่มที่ชอบเข้าสังคม สังสรรค์เฮฮาปาร์ตี้กับเพื่อนๆ หรือคนอื่นๆ เพราะพวกเขารู้สึกว่าพวกเขามีความสามารถในการได้ช่วยเหลือให้คนอื่นรู้สึกดี รู้สึกสนุก ด้วยการที่เขามีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ แต่ในช่วงที่ต้องกักตัว หรือทำ social distancing จะเป็นช่วงที่ทำให้พวกเขาเหล่านั้นอาจรู้สึกตัวเองเหงา หรือด้อยค่าลง เพราะเขาอาจรู้สึกว่าเขาไม่ได้ใช้ความสามารถของเขาในการเข้าไปทำให้คนอื่นรู้สึกดี รู้สึกสนุก เขาอาจไม่คุ้นชินกับการที่ต้องอยู่คนเดียว แยกกันอยู่กับคนอื่นๆ ที่เขาเคยอยู่ด้วยกันทุกวัน ทำให้เรารู้สึกว่าเขาขาดพื้นที่ในการได้ใช้ความสามารถในการเข้าสังคมของเขาน้อยลง จนอาจทำให้เขาตั้งข้อสงสัยกับตัวเองว่าความสามารถของตัวเองน้อยลงหรือเปล่า เพราะเขาไม่มีโอกาสได้ใช้ความสามารถของตัวเองในช่วงนี้ได้อย่างเต็มที่
กลุ่ม Extrovert จะรักษาสุขภาพจิตของตัวเองในช่วง Social Distancing ได้อย่างไร?
แน่นอนว่ากลุ่ม Extrovert เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ได้อย่างชัดเจน คำแนะนำของหมอเอิ้นที่จะช่วยให้คุณมีจิตใจที่เข้มแข็ง และรอดพ้นจากช่วงวิกฤตินี้ได้ ได้แก่
- ยอมรับตัวเองได้ว่าเราเครียด การยอมรับตัวเองเป็นสิ่งที่ควรทำ และเป็นเรื่องที่ดีที่เรารู้ว่ามีเหตุผิดปกติเกิดขึ้นกับตัวเอง เราเก่งแล้วที่เรารู้ตัวเอง
- ปล่อยให้ตัวเองรู้สึกแย่ๆ ได้แต่อย่านาน เราไม่จำเป็นต้องห้ามใจตัวเองไม่ให้มีความรู้สึกเศร้า แต่เมื่อเราเศร้าแล้วเราก็ต้องเลิกเศร้าได้ ตัดสินใจหยุดความรู้สึกแย่ๆ ให้ได้
- ปรับสภาพจิตใจของตัวเองให้ยอมรับในสิ่งที่เกิด และเราต้องผ่านพ้นมาให้ได้ด้วยการปรับตัวเองให้เราสามารถอยู่กับตัวเองได้ โดยไม่ต้องเอาชีวิตไปติดอยู่กับคนอื่นมากจนเกินไป ทำความรู้จักกับตัวเอง และรักตัวเองให้มากขึ้น
- หาเวลาสำรวจร่างกาย และจิตใจของตัวเอง เพิ่มทักษะต่างๆ ให้กับตัวเองในช่วงเวลาที่เราได้รู้จักตัวเอง รับรู้ความต้องการของตัวเองมากขึ้น เช่น เคยคิดอยากจะเรียนภาษาเพิ่ม หัดเล่นดนตรี ทำอาหาร หรืออยากดูซีรีส์เรื่องใดเรื่องหนึ่งมานานแล้ว ก็ให้ใช้โอกาสนี้ในการทำในสิ่งที่อยากทำมานานให้สำเร็จเสีย
- อย่าขาดหายไปจากสังคม แม้ว่าตัวจะห่าง แต่ใจไม่จำเป็นต้องห่าง โทรหาพูดคุยกับครอบครัว และเพื่อนสนิทอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้ตัวเองรู้สึกว่ามีอะไรขาดหายไป
- สำหรับกลุ่มคนที่มีปัญหาทางสุขภาพจิตเป็นทุนเดิมอยู่แล้วก็อาจจะมีความเสี่ยงที่จะแย่ลงได้ ดังนั้นจึงควรนัดหมอเพื่อทำการรักษาตามเดิม แต่อาจเปลี่ยนจากการไปโรงพยาบาล เป็นวิดีโอคอลได้
สามารถรับชมรายการ Sanook Call From Nowhere สัมภาษณ์หมอเอิ้น หรือ พ.ญ. พิยะดา หาชัยภูมิ ได้เต็มๆ ที่นี่