พบเชื้อ "โควิด-19" ใน "อาหาร" ได้หรือไม่?
เนื้อไก่ที่มีเชื้อแบคทีเรียซัลโมเนลล่า (salmonella) หรืออาหารอื่น ๆ ที่มีเชื้อแบคทีเรียอีโคไล (E.coli) หรือโนโรไวรัส (noroviruses) อาจทำให้คนเราเจ็บป่วยได้ แต่เหตุใดเจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพจึงไม่เตือนผู้คนเกี่ยวกับการทานอาหารที่ปนเปื้อนไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 (COVID-19)
วิธีการที่แตกต่างกันที่เชื้อโรคเหล่านี้ทำให้คนเจ็บป่วย
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) กล่าวว่า ไวรัสและเชื้อโรคที่ติดอยู่ตามเนื้อเยื่อต่างๆ จะทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย ส่วนไวรัสที่อยู่ในทางเดินหายใจ อย่างเช่น โควิด-19 มักจะยึดติดอยู่กับเซลล์ต่างๆ เช่น ที่ปอด แต่เชื้อโรคอย่างเช่น โนโรไวรัสและซัลโมเนลล่า จะอยู่ในช่องท้อง และหลังจากที่เกาะติดกับเซลล์ภายในอวัยวะแล้วก็จะเพิ่มปริมาณเป็นทวีคูณ
CDC และผู้เชี่ยวชาญกลุ่มอื่นๆ ยังคงศึกษาเกี่ยวกับไวรัสโคโรนา 2019 อยู่ และบอกว่ายังไม่มีหลักฐานใดๆ ที่ระบุว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ได้รับเชื้อผ่านทางช่องท้องของพวกเขา อย่างไรก็ตาม มีการพบเชื้อไวรัสจากของเสียของผู้ติดเชื้อขับถ่ายออกมา
CDC ตั้งข้อสังเกตว่า ไม่มีหลักฐานว่าเชื้อโรคที่พบในสิ่งปฏิกูลของมนุษย์สามารถทำให้คนป่วยได้จริงหรือไม่ และไวรัสโคโรนาที่พบในของเสียของมนุษย์ไม่น่าจะเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าไวรัสชนิดนี้สามารถอยู่รอดในระบบย่อยอาหารได้
เชื้อโรคแพร่กระจายในรูปแบบที่แตกต่างกัน
ไวรัสต่างๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ และโควิด-19 ส่วนใหญ่แพร่กระจายโดยการสัมผัสระหว่างบุคคล และจากละอองจากการไอหรือจาม ขณะที่เชื้อโรคที่เป็นสาเหตุที่ทำให้คนป่วยจากการรับประทานอาหารมักจะทำให้เกิดอาการท้องเสียท้องร่วง ในบางกรณีเชื้อโรคที่พบในสิ่งปฏิกูลของมนุษย์สามารถเดินทางจากมือของคนไปยังสิ่งที่พวกเขาสัมผัส
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า นั่นคือเหตุผลที่ว่า เหตุใดการที่คนงานด้านอาหารถึงต้องหยุดอยู่กับบ้านเมื่อมีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคทางเดินอาหารจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว พวกเขาอาจทำให้ผู้คนมากมายต้องเจ็บป่วยตามไปด้วย
และว่า ความเสี่ยงที่ใหญ่หลวงที่สุดที่เกี่ยวข้องกับอาหารและโควิด-19 ก็คือการที่จะต้องแตะต้องสัมผัสตัวคนอื่นๆ หรือพนักงานในร้านขายอาหาร ดังนั้น ร้านค้าต่างๆ จึงจำกัดจำนวนคนที่เข้าไปซื้อของในร้าน และขอให้ลูกค้าเว้นระยะห่างทางสังคม โดยทำเครื่องหมายว่าควรยืนห่างกันมากน้อยแค่ไหน
อย่างไรก็ดี ไวรัสโคโรนา 2019 สามารถอยู่รอดได้ในบางพื้นผิว ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำว่าให้ใช้มือของตัวเองให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ไม่เอามือไปจับหน้าตัวเองในเวลาที่ไปซื้อของ นอกจากนี้ CDC ยังแนะนำให้ล้างมือหลังจากที่จัดเก็บข้าวของที่ซื้อมาเข้าที่เข้าทางแล้วด้วย