“ซึมเศร้า” เพราะพิษ “โควิด-19” เราจะจัดการความรู้สึกตัวเองอย่างไร
ภัยของ “โควิด-19” ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแค่กับปัจจัยภายนอก เช่น การทำงาน การใช้ชีวิต อาหารการกิน และเรื่องต่างๆ เท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสภาพจิตใจของเราด้วย ด้วยสาเหตุหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการห่างไกลกันกับเพื่อน ครอบครัว คนรัก รายได้ที่ขาดหายไปจากปัญหาการประกอบอาชีพที่ไม่สามารถทำมาหากินได้เหมือนเดิม บางคนตกงาน หรือแม้กระทั่งปัญหาภายในครอบครัวที่ทะเลาะเบาะแว้งกันไปหลายคู่
ปัญหาที่เกิดขึ้นต่างๆ นานาเหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อจิตใจของแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนฟื้นตัวได้ก็ตั้งหน้าตั้งตาใช้ชีวิตต่อไป แต่หลายคนก็มีอาการซึมเศร้าจนคิดไปถึงเรื่องของการฆ่าตัวตาย ในช่วงที่เราห่างไกลจากคนอื่นๆ แบบนี้ เราจะมีวิธีพยุงจิตใจของเราเองได้อย่างไรให้ผ่านวิกฤตินี้ไปได้
“ซึมเศร้า” เพราะพิษ “โควิด-19” เราจะจัดการความรู้สึกตัวเองอย่างไร?
-
ยอมรับว่าสภาพจิตใจตัวเองไม่ปกติ
การที่เราฝืนตัวเองอยู่ตลอดว่า “เราไม่ได้เป็นอะไร” ไม่ได้ช่วยให้เรากลายเป็นคนเข้มแข็ง หรือเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้องเสมอไป จริงอยู่ที่คุณให้กำลังใจตัวเองว่ามันไม่เป็นอะไร แต่หากช่วงไหนที่รู้ตัวว่าเราไม่ปกติ เราเครียด เรานอนไม่หลับ เราอยากร้องไห้ ก็ขอให้โอบกอดตัวเองและยอมรับกับตัวเองว่าเราอ่อนแอบ้างก็ได้ ยอมรับว่าตัวเองเครียด ปล่อยน้ำตาออกมาบ้างเพื่อเป็นการระบายสิ่งที่อัดอั้นตันใจ การยอมรับว่าตัวเองรู้สึกอย่างไร ก็เป็นการแสดงความเข้มแข็งและกล้าหาญในอีกรูปแบบหนึ่งเช่นเดียวกัน ขอให้ขอบคุณตัวเองว่า “เรายังรู้ตัวว่าเราไม่ปกติแล้วนะ เราต้องจัดการกับตัวเองแล้ว” ไม่ปล่อยให้ความรู้สึกแย่ๆ คอยกัดกินหัวใจตัวเองไปเรื่อยๆ
-
อย่าปล่อยให้ตัวเองจมกับความเศร้านาน
หลังจากปล่อยให้ตัวเองได้ระบาย ได้ร้องไห้แล้ว พยายามอย่าให้ช่วงนี้ใช้เวลานานเกินไป ร้องไห้จนเหนื่อยแล้วก็หยุด จากนั้นก็บอกตัวเองว่า “เราจะผ่านมันไปให้ได้” ปัญหาที่ทำให้เราเครียด ทำให้เราเสียใจคืออะไร เราจะผ่านมันไปได้อย่างไร หาทางแก้ไขมันให้ได้ หากอยู่คนเดียวแล้วฟุ้งซ่าน หยุดคิดเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ ให้หาที่ระบายอื่นๆ เช่น โทรคุยกับครอบครัว เพื่อน คนรัก คนสนิท หากติดต่อใครไม่ได้จริงๆ ลองใช้วิธีพิมพ์ หรือเขียนลงเป็นอักษร ไม่จำเป็นต้องโพสต์ลง social network พิมพ์หรือเขียนระบายมันออกมาเฉยๆ พิมพ์หรือเขียนจนกว่าทุกสิ่งที่วนเวียนอยู่ในหัวจะหมด ไม่มีอะไรจะเขียน แล้วก็เริ่มหาคำตอบให้กับตัวเองว่า “เราควรจะทำอย่างไรต่อไป”
-
ตั้งเป้าหมายในชีวิต เราจะดีขึ้นเพื่ออะไร เพื่อใคร
เมื่อเราอยู่ในช่วงล้มลุกคลุกคลาน เกิดอุปสรรคในชีวิต เราต้องตั้งเป้าหมายว่าเราจะต้องลุกขึ้นมาสู้ มามีชีวิตที่ดีขึ้นเหมือนเดิม หรือดีกว่าเดิมเพื่ออะไร เพื่อตัวเอง เพื่อที่เราจะได้ทำตามความฝัน เราอยากเก็บเงินเปิดร้าน เราอยากเก็บเงินไปเที่ยวที่ที่เราอยากไป เราอยากเก็บเงินใช้หนี้ให้หมด หรืออยากเก็บเงินเพื่อสร้างครอบครัว ซื้อบ้าน ซื้อรถอย่างที่ฝันไว้ หรืออย่างน้อยเราก็อยากกลับมาเป็นเสาหลักให้กับครอบครัวอีกครั้ง เราอยากดูแลพ่อแม่ ครอบครัวให้ดี อยากดูแลลูกให้ดี เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก อะไรก็ตามที่เป็นแรงบันดาลใจให้เรามีชีวิตอยู่ต่อไป แปะรูปแปะข้อความเตือนใจตัวเองเอาไว้ในที่ที่มองเห็นบ่อยๆ
-
อย่าขาดการติดต่อกับคนรอบข้าง
คุณไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวบนโลก โทรหาหรือพูดคุยกับเพื่อนๆ หรือคนในครอบครัวบ่อยๆ หรือทุกวัน แม้ว่าจะไม่ได้เจอหน้าค่าตากัน แต่ก็พยายามรักษาความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ รอบตัวเอาไว้เหมือนเดิมให้ได้ มีปัญหาที่อยากปรึกษาก็คุยกับทุกคนได้เรื่อยๆ
-
เพิ่มคุณค่าให้กับตัวเอง
มีหลายคนที่ไม่ได้มีปัญหาเรื่องเงินทอง ความรัก หรือการทำงาน แต่เป็นความซึมเศร้าที่เกิดจากการขาดสังคม การอยู่คนเดียวนานๆ โดยที่ไม่คุ้นชิน และไม่มีอะไรที่สนใจอยากทำจนกลายเป็นไม่อยากทำอะไรสักอย่าง พลังงาน ความกระตือรือร้นหายไป หากการดูหนังฟังเพลงเพื่อความบันเทิงยังไม่ช่วยให้คุณหายเบื่อเซ็ง ลองเพิ่มคุณค่าให้กับตัวเองด้วยการหากิจกรรมที่สนใจทำนานแล้วแต่ไม่ได้ทำ เช่น หัดเล่นเครื่องดนตรี เรียนภาษาเพิ่ม หัดทำเมนูอาหารที่อยากลองทำ วาดรูประบายสี เย็บปักถักร้อย ลองเล่นเกมใหม่ๆ หรือออกกำลังกายในบ้านเพื่อสร้างความตื่นตัวให้กับร่างกาย เป็นต้น
-
ปรึกษาจิตแพทย์
ถ้าสุดท้ายแล้วยังไม่สามารถกำจัดความรู้สึกแย่ๆ ในแง่ลบที่มีกับตัวเองออกไปจากจิตใจของตัวเองได้ ควรติดต่อปรึกษาจิตแพทย์โดยตรง เพื่อหาวิธีรักษาอย่างตรงจุด โดยสามารถโทรสอบถามกับโรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือติดต่อสายด่วนสุขภาพจิต โทร. 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง
รายละเอียดเพิ่มเติม สำหรับปัญหาสุขภาพจิตใจในช่วง “โควิด-19” ระบาด สามารถรับชมรับฟังข้อมูลจาก หมอเอิ้น หรือ พ.ญ. พิยะดา หาชัยภูมิ จิตแพทย์จากโรงพยาบาลพระราม 9 จากรายการ Sanook Call From Nowhere ได้ที่นี่