อาการ "โควิด-19" นอกจากมีไข้ ไอ จาม ยังมีอะไรอีกบ้าง?

อาการ "โควิด-19" นอกจากมีไข้ ไอ จาม ยังมีอะไรอีกบ้าง?

อาการ "โควิด-19" นอกจากมีไข้ ไอ จาม ยังมีอะไรอีกบ้าง?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อาการของผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 (COVID-19) ที่เห็นได้ชัด และส่วนใหญ่เราจะทราบกันอยู่แล้ว คือ มีไข้ ไอ จาม เจ็บคอ (หรืออาจจะคอแห้ง) และหายใจเหนื่อยหอบ แต่นอกจากอาการเหล่านี้แล้ว ยังมีสัญญาณอันตรายของอาการโควิด-19 เพิ่มเติมที่เรายังสามารถสังเกตตัวเอง และคนรอบข้างได้ ดังนี้


สูญเสียความสามารถในการได้กลิ่น-รับรส

ราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์ แห่งประเทศไทย ก็ออกประกาศว่าพบผู้ป่วยโควิด-19 มีอาการสูญเสียการรับรส และได้กลิ่นมากถึง 2 ใน 3 และในผู้ป่วยที่มีอาการไข้ ไอ จาม เจ็บคอ เหนื่อยหอบไม่มากนัก มีโอกาสที่พบอาการสูญเสียการรับรู้รส และการได้กลิ่นได้ราว 30% เช่นกัน โดยอาจพบได้ในผู้ที่ติดเชื้อใน 1-7 วันแรก และอาจจะมีอาการรับรู้รส-กลิ่นน้อยลง ไปจนถึงไม่สามารถรับรู้รส-กลิ่นได้เลย ดังนั้นหากใครที่ไม่สามารถรับรู้รส-กลิ่นขึ้นมาอย่างกะทันหัน และคิดว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงใดๆ ควรรีบพบแพทย์


ท้องเสีย มีปัญหาในระบบย่อยอาหาร

งานวิจัยที่เตรียมตีพิมพ์ลง The American Journal of Gastroenterology เผยว่า ในผู้ติดเชื้อบางรายอาจแสดงอาการอื่นๆ เป็นอาการแรกๆ ก่อนที่จะเริ่มมีไข้ ไอ จาม เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ ซึ่งหนึ่งในอาการแรกๆ ที่อาจพบได้ อาจเป็นอาการท้องเสีย และมีปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร โดยทีมวิจัยได้รวบรวมข้อมูลจากผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศจีน พบว่า จากผู้ป่วยทั้งหมด 206 คน มีผู้ที่มีปัญหากับระบบย่อยอาหารถึง 117 คน และในจำนวนนี้ ราว 67 คน (58%) มีอาการท้องเสีย และ 13 คน (20%) มีอาการท้องเสียเป็นอาการแรกที่เริ่มมีอาการป่วย นอกจากนี้ยังพบว่า 1 ใน 3 ของผู้ที่มีอาการท้องเสียทั้งหมดไม่เคยมีไข้เลยอีกด้วย


ตาแดง-ตาแห้ง

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า อาการทางตาอาจจะปรากฏก่อนหน้าอาการอื่นๆ ทางระบบทางเดินหายใจด้วยซ้ำ โดยพบได้ 11% จากรายงานของประเทศจีนและขณะที่มีอาการแล้ว โดยทั้งหมดแล้วพบได้ประมาณเกือบ 30% ตั้งแต่ ตาแห้ง ตาแดงตาอักเสบ น้ำตาไหล มีขี้ตา มีหยากไย่ลอย คล้ายมีวัตถุ แปลกปลอมอยู่ในตา

นอกจากนี้ Dr. Liang Liang แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาจักษุวิทยา มหาวิทยาลัย China Three Gorges ในเมืองอี้ชาง ยังระบุด้วยว่า เชื้อไวรัสสามารถติดต่อไปสู่คนอื่นได้ หากผู้ติดเชื้อใช้นิ้วมือขยี้ตาที่ติดเชื้อ แล้วไปสัมผัสกับคนอื่น หรือสิ่งของต่างๆ


ผิวหนังผิดปกติ

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ให้ข้อมูลว่า มีการเก็บข้อมูลผู้ป่วยโรคโควิด-19 จากต่างประเทศ เช่น อิตาลี สหรัฐอเมริกา และในประเทศไทยเอง พบว่าร้อยละ 20 ของผู้ป่วย จะมีความผิดปกติทางผิวหนังร่วมด้วย ได้แก่

  • มีผื่นแดง (คันบางราย)

  • มีจุดเลือดออก

  • ผื่นบวมแดงคล้ายโรคลมพิษ

  • กลุ่มของตุ่มน้ำคล้ายโรคอีสุกอีใส

  • มีการอักเสบของผิวหนังที่เกิดจากการหด และขยายตัวของหลอดเลือด

แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ให้คำแนะนำว่า หากประชาชนมีอาการผิดปกติทางผิวหนัง ร่วมกับอาการไข้ ไอ หรืออาการทางระบบหายใจอื่นๆ ควรรีบมาพบแพทย์


นิ้วเท้าอักเสบบวมแดง

ปัจจุบันยังไม่มีการบันทึกอาการอักเสบบวมแดงของนิ้วเท้าว่าเป็นอาการสำคัญของการติดเชื้อโควิด-19 แต่มีการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการนิ้วเท้าบวมแดงอักเสบ ส่วนใหญ่จะพบในกลุ่มผู้ติดเชื้อที่เป็นเด็ก วัยรุ่น และวัยหนุ่มสาว และไม่พบอาการอื่นๆ เหมือนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วไป อย่างไรก็ตาม การมีอาการนี้เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่าภูมิต้านทานโรคของร่างกายพยายามต่อสู้กับเชื้อไวรัสอยู่ ดังนั้นจึงมีโอกาสสูงที่ผู้ติดเชื้อที่มีอาการนี้กำลังจะมีอาการที่ดีขึ้นในไม่ช้า

แพทย์แนะนำว่า หากคุณอยู่ในกลุ่มเสี่ยงของอาการนี้ เป็นเด็ก วัยรุ่น วัยหนุ่มสาว ไม่มีอาการใดๆ สุขภาพแข็งแรงปกติ แต่มีอาการบวมแดงอักเสบที่นิ้วเท้าแม้จะไม่ได้มีปัญหากับการสวมรองเท้า ควรพบแพทย์ และอย่าลืมสวมหน้ากากอนามัยด้วย


อาการทางระบบประสาท

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า อาการของผู้ติดเชื้อไวรัสอาจแสดงทางระบบประสาท และอาจพบได้มากถึง 25% ของผู้ป่วยโรคโควิด-19 โดยอาการที่สามารถพบได้ ได้แก่ วิงเวียน ปวดศีรษะ สับสน ระดับความรู้สึกตัวลดลง โรคทางระบบประสาทแบบเฉียบพลัน สมองขาดเลือดแบบเฉียบพลัน เดินเซ ชัก หลอดเลือดสมองอุดตัน และเลือดออกในสมอง เป็นต้น

ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีอาการเหล่านี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นโควิด-19 เสมอไป หากไม่แน่ใจควรตรวจกับแพทย์โดยละเอียดที๋โรงพยาบาล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook