"หายใจเหนื่อยหอบ" แบบไหนคืออาการ "โควิด-19" VS "โรคหืด"
แพทย์ชี้อาการ “โรคหืด” คล้ายโควิด-19 แต่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง เตือนบางรายมีอาการโรคหืดโดยไม่รู้ตัว คนไข้โรคหืดต้องใช้ยาต่อเนื่อง เลี่ยงมารพ.ในภาวะโควิด-19 พร้อมเผยสถิติโรคหืดคร่าชีวิตคนไทยยังพุ่งปีละเกือบ 7 พันคน
ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกล่าสุดในปี 2017 พบคนไทยเสียชีวิตจากโรคหืดถึง 6,808 ราย โดยคิดเป็น 7.76 รายต่อประชากร 1 แสนคน หรือ 1.3% ของคนที่เสียชีวิตทั้งหมด เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลการเสียชีวิตจากโรคนี้ในระดับโลกแล้วพบว่า ประเทศไทยจัดเป็นอันดับที่ 76 ของโลก โดยเป็นอันดับที่ 5 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลการเสียชีวิตของคนไทยจากโรคอื่นๆ พบว่าโรคหืดเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในคนไทยเป็นอันดับที่ 19 โดยอันดับที่ 1-3 คือ หลอดเลือดหัวใจ ไข้หวัดใหญ่/ปอดบวม และโรคหลอดเลือดสมอง ตามลำดับ
อาการโรคหอบหืด
สมาคมสภาองค์กรโรคหืดฯ มีคำแนะนำวิธีสังเกตตัวเองว่าเป็นโรคหืดหรือไม่ ด้วยคำถามง่ายๆ ดังนี้
- ท่านเคยมีอาการเหนื่อย หายใจเสียงดังหวีด แน่นหน้าอก ไอเป็นๆ หายๆ ในช่วงเช้า/กลางคืน หรือเมื่อมีสิ่งกระตุ้น เช่น ฝุ่นควัน อากาศเย็น ขนแมวหรือขนสุนัข การออกกำลังกาย หรือไม่?
- ท่านเคยนอนไม่หลับหรือต้องตื่นขึ้นมาเนื่องจากไอ, หายใจติดขัด, แน่นหน้าอก ที่ไม่ได้เกิดจากไข้หวัดหรือไม่?
- ท่านเคยมีอาการหอบหืดหรือไม่? (หายใจหอบ, หายใจเสียงดังวี๊ดๆ, หายใจไม่ทัน, หายใจไม่เต็มอิ่ม, ไอเป็นชุดๆ)
- ท่านเคยใช้ยาเพื่อระงับอาการหอบหืดหรือไม่?
หายใจหอบเหนื่อย แบบไหน โควิด-19 แบบไหน โรคหืด
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วยอาการของคนไข้โรคหืดอาการคล้ายกับโควิด-19 แต่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง
อาการหอบของผู้ป่วยโรคหืด มักหายใจเสียงดังหวีด แน่นหน้าอก ไอเป็นๆ หายๆ ในช่วงเช้า/กลางคืน หรือเมื่อมีสิ่งกระตุ้น และอาจมีอาการหอบเหนื่อย หายใจติดขัด แน่นหน้าอกทั้งๆ ที่ไม่ได้มีไข้ ในขณะที่ผู้ป่วยโควิด-19 มักมีไข้ร่วมด้วย
ในกรณีคนไข้โรคหืดมักมีอาการไออย่างเดียว มีน้ำมูกบ้างแต่ไม่มีไข้ ขณะที่โรคโควิด-19 มีไข้ถึง 60% เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว และอาการบ่งชี้ที่สำคัญ คือไม่ได้กลิ่นและไม่สัมผัสรส ตรวจสอบได้โดยให้คนไข้พ่นยาฉุกเฉิน ซึ่งจะต้องหายจากอาการที่เกิดจากโรคหืด หากไม่หายและมีอาการข้างต้น มีข้อแนะนำให้ตรวจหาเชื้อโควิด-19
โรคหืด คร่าชีวิตคนไทยจำนวนมาก
นายกสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล กล่าวว่า อัตราการเสียชีวิตในไทยปีละ 7,000 คน ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก เพราะว่าโรคนี้สามารถรักษาได้ หายได้ ถ้ารักษาเร็ว มีโอกาสหายได้สูง จากเดิมผู้ป่วยมักจะเข้าใจว่าเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หาย ทำให้ขาดการใช้ยาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งการรักษาอาการ คนไข้จะต้องมียาต้องติดตัว 2 ประเภทคือยาควบคุม ถ้าใช้ในระยะยาวสามารถรักษาอาการของโรคให้หายได้ และยาฉุกเฉินที่เป็นยาขยายหลอดลมตลอดถึงแม้จะไม่มีอาการ เพราะอาจเกิดอาการหอบกำเริบเมื่อไหร่ก็ได้ ซึ่งคนไข้ที่เสียชีวิตเพราะไม่ได้พกยาฉุกเฉิน ทำให้เสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ หรืออีกกรณีคือยาหมดอายุ (ทั่วไปมีอายุเฉลี่ย 2 ปี) เป็นหนึ่งในต้นเหตุของการเสียชีวิตจากโรคนี้
อีกความเสี่ยงของการเสียชีวิตคือปัจจัยด้านอายุ โดยทั่วไปอัตราการเสียชีวิตในผู้ใหญ่จะมากกว่าเด็กประมาณ 5 เท่า ขณะที่ยิ่งรักษาไวยิ่งหายได้ไวโดยเฉพาะในเด็ก มีโอกาสหายเกิน 50% แต่กลุ่มเสี่ยงที่สำคัญคือคนไข้ที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป เพราะการพ่นยาทำได้ยากกว่า อาการรุนแรงกว่าและหลายคนชินกับอาการหอบโดยที่ไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคหืด
วิธีลดอาการโรคหืด
และจากการศึกษาหาแนวทางที่เหมาะสม นอกจากหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการหอบได้ง่าย เช่น บุหรี่ ไรฝุ่น ฝุ่นละออง มลพิษ ความเครียด ปัจจุบันได้ประยุกต์ใช้ทฤษฎี 4Es ที่คิดค้นขึ้นมา โดยให้คนไข้หันมาใส่ใจดูแลตนเอง ได้แก่
- ต้องออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ (Exercise)
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ (Eating)
- สิ่งแวดล้อม (Environment) คนไข้โรคหืดจะต้องหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการ
- อารมณ์ความรู้สึก (Emotion) ในภาวะที่คนไข้เครียด ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน จะทำให้โรคกำเริบขึ้นมาได้
ปัจจุบันทางสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย ได้ออกข้อแนะนำการปฏิบัติ 5 ประการในสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 อ้างอิงตามองค์การหืดโลก ดังนี้
- ห้ามหยุดยา-ลดยา และต้องพ่นยาอย่างสม่ำเสมอ เพราะเสียงหอบกำเริบ (ลดการมาโรงพยาบาลให้น้อยที่สุด)
- หลีกเลี่ยงยาพ่นประเภทฝอยละออง หรือ Nebulization เนื่องจากมีโอกาสที่ผู้ป่วยโรคหืดที่ติดเชื้อโควิด-19 จะแพร่กระจายเชื้อได้ และแนะนำให้ใช้ยาพ่น MDI with spacers (อุปกรณ์พ่น)
- คนไข้ต้องเข้าใจและมีแผนปฎิบัติการดูแลในยามฉุกเฉิน (Asthma Action Plan) เพื่อรู้วิธีการปฏิบัติตัวและสังเกตอาการ โดยปกติสูตรการพ่นยาฉุกเฉิน ทุก 15 นาที x 3 ครั้ง ถ้าดีขึ้นพ่นห่าง 6 - 8 ชั่วโมงจนดีขึ้นไป 2-3 วัน ซึ่งคนไข้หลายคนจำผิด หรือจำไม่ได้ว่าจะต้องดูแลตัวเองอย่างไร ต้องมีการใช้ Asthma Action Plan (ใน Application : Asthma Care) ดูแลและสังเกตอาการที่บ้าน ลดความเสี่ยงมาโรงพยาบาล คนไข้โรคหืดมาแพทย์ก็ต่อเมื่อมีอาการหอบทุกๆวัน ซึ่งหมายถึงการรักษาตัวเองไม่ดีนั่นเอง
- หลีกเลี่ยงการทำหัตถการเป่าปอด ลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อ ถึงแม้ว่าจะพบคนไข้โรคเกิดที่ติดเชื้อโควิด-19 ไม่ได้มีจำนวนมากก็ตาม
- การดูแลคนไข้ผ่าน Telemedicine โรคหืดสามารถที่จะตรวจดูอาการและรักษาผ่านทางไกลได้ โดยส่งยาไปที่บ้านหรือรับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้าน
ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ไทยเราพัฒนาแนวทางรักษาโรคหอบหืดที่ไม่ได้ใช้ยาพ่น เช่นยาฉีด ยาอมใต้ลิ้น การผ่าตัด ฯลฯ จากที่สมัยก่อนการปรับยาขึ้นอยู่กับแพทย์ แต่ปัจจุบันขึ้นกับอาการผู้ป่วยเป็นสำคัญ โดยผู้ป่วยมีส่วนร่มในการรักษา ดังนั้นการดูแลตัวเอง (Self Care) จึงเป็นสิ่งสำคัญ ถ้ามีอาการรุนแรงต้องรีบปรึกษาแพทย์ และต้องใช้ยาควบคุมอาการที่แพทย์จ่าย ต้องใช้ต่อเนื่อง เช่นเดียวกับยาพ่นฉุกเฉินที่ใช้ขยายหลอดลมหรือที่เรียกกันว่า "ยาสูด" ใช้เมื่อมีอาการหอบกำเริบเท่านั้น และทุกคนต้องมีติดตัว