นวัตกรรมใหม่! เพื่อคู่รักที่มีบุตรยาก เมื่อ"เด็กหลอดแก้ว"ไม่ตอบโจทย์

นวัตกรรมใหม่! เพื่อคู่รักที่มีบุตรยาก เมื่อ"เด็กหลอดแก้ว"ไม่ตอบโจทย์

นวัตกรรมใหม่! เพื่อคู่รักที่มีบุตรยาก เมื่อ"เด็กหลอดแก้ว"ไม่ตอบโจทย์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธี ICSI


การมีลูกยากไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ทันสมัยขึ้น การทำ ICSI ถือว่าเป็นการตอบโจทย์ของคู่สามี ภรรยาอยากมีลูกได้ดีที่สุดในขณะนี้


เมื่อไหร่จะเรียกว่ามีบุตรยาก

ภาวะมีบุตรยากจะวินิจฉัยเมื่อคู่สามีภรรยา อยู่ด้วยกันโดยไม่ได้คุมกำเนิด มีเพศสัมพันธ์สม่ำเสมอ คือ สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง รวมเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี หรือกรณีที่ทราบสาเหตชัดเจนอยู่แล้ว เช่น ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอหรือฝ่ายหญิงอายุมากแล้ว ก็สามารถให้การวินิจฉัยได้เลย


ภาวะมีบุตรยากเกิดได้กับใครบ้าง

สามารถเกิดได้กับทุกคนครับ โดยบางคู่อาจพบสาเหตุจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือบางคู่ก็พบสาเหตุทั้งในฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิง สาเหตุในฝ่ายชาย ก็เช่น ความผิดปกติของอสุจิหรืออัณฑะ รวมไปถึงประวัติการผ่าตัดบริเวณอัณฑะ ส่วนสาเหตุในฝ่ายหญิงก็พบได้ตั้งแต่ความผิดปกติของมดลูก มีเนื้องอกมดลูก การอุดตันของท่อนำไข่ การทำงานของรังไข่และฮอร์โมนต่างๆที่ผิดปกติไป ซึ่งทำให้เกิดภาวะไม่ตกไข่ขึ้นมา หรือแม้แต่อายุที่มากขึ้นของฝ่ายหญิงเพียงอย่างเดียวก็ทำให้มีบุตรยากได้แล้วครับ


เมื่อมีบุตรยากแล้วจะรักษาอย่างไรได้บ้าง

ถ้าหากตรวจทุกอย่างเบื้องต้นแล้วปกติดี หรือมีประวัติประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอที่คิดถึงจากภาวะไม่ตกไข่เรื้อรัง ก็อาจจะเริ่มรักษาได้จากการกินยาชักนำให้ไข่ตก แล้วนับวันมีเพศสัมพันธ์ หรือใช้วิธีฉีดน้ำเชื้อเข้าสู่โพรงมดลูกเพื่อเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ แต่หากใช้วิธีเบื้องต้นแล้วไม่ได้ผล การรักษาโดยทำเด็กหลอดแก้ว หรือ ICSI ก็เป็นทางเลือกที่เพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ได้อย่างชัดเจนครับ


ความแตกต่างระหว่างการทำเด็กหลอดแก้วและ ICSI

ทั้ง ICSI และการทำเด็กหลอดแก้วเป็นการปฏิสนธินอกร่างกายเหมือนกัน ต่างกันแค่ขั้นตอนวิธีการปฏิสนธิ ในการทำเด็กหลอดแก้ว เราจะนำอสุจิจากฝ่ายชายมาผสมรวมกับไข่จากฝ่ายหญิง แล้วให้อสุจิทำหน้าที่เจาะไข่เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิขึ้นมาเอง แต่การทำ ICSI นั้นเป็นเทคนิคทางห้องปฏิบัติการเลี้ยงตัวอ่อน ที่เราใช้เข็มแก้วขนาดเล็ก ดูดเลือกอสุจิขึ้นมาหนึ่งตัว แล้วใช้เข็มนั้นเจาะและฉีดอสุจิเข้าไปในไข่ โดยใช้อสุจิหนึ่งตัวต่อไข่หนึ่งใบ เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิขึ้นมา


ICSI เหมาะกับคู่สมรสที่ประสบปัญหาทางใดบ้าง

โดยแต่เดิมเลย ICSI ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยการมีบุตรในรายที่มีปัญหาจากฝ่ายชาย ไม่ว่าจะเป็นจากปัญหามีตัวอสุจิน้อย มีการเคลื่อนที่หรือรูปร่างผิดปกติ เนื่องจากว่าในการทำ ICSI ต้องการอสุจิจำนวนไม่มาก ก็คือเท่ากับจำนวนฟองไข่ที่เรามีอยู่ จึงสามารถทำได้แม้มีจำนวนอสุจิไม่กี่ตัว

แต่ปัจจุบันก็มีการนำวิธีการ ICSI มาใช้หลากหลายมากขึ้น โดยสามารถใช้ได้กับผู้ป่วยที่มีปัญหามีบุตรยากทุกราย เพื่อเพิ่มโอกาสการปฏิสนธิ รวมไปถึงในรายที่เคยใช้การปฏิสนธิด้วยการทำเด็กหลอดแก้วแล้วได้ผลที่ไม่ดีนัก ก็สามารถใช้ ICSI ช่วยเพิ่มการปฏิสนธิได้


การทำ ICSI ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

เราจะเริ่มจากในฝ่ายหญิง โดยการฉีดยากระตุ้นไข่ทุกวันเริ่มจากวันที่ประจำเดือนมาวันที่ 2 รวมเป็นเวลาประมาณ 10 วัน เพื่อให้ได้ไข่มากกว่าในภาวะปกติซึ่งจะมีไข่ 1 ฟองต่อรอบเดือน เราจะฉีดยาจนได้ไข่โตเต็มที่ซึ่งจะทราบจากการเจาะเลือดและอัลตร้าซาวน์ ก็จะกำหนดวันเก็บไข่ซึ่งจะใช้เข็มเจาะดูดออกทางช่องคลอด โดยให้ยาสลบร่วมด้วยทำให้ไม่เจ็บ และก็ไม่มีแผลทางหน้าท้อง ไข่ที่ถูกเก็บออกมาจะถูกนำมาเตรียมให้พร้อมสำหรับการปฏิสนธิ
ส่วนฝ่ายชายเราจะเริ่มจากการเก็บน้ำเชื้อ ในวันที่ฝ่ายหญิงเก็บไข่ น้ำเชื้อที่ได้มาจะผ่านขั้นตอนการเตรียมเพื่อคัดเลือกเฉพาะอสุจิที่สมบูรณ์แข็งแรง โดยในขั้นตอนการคัดเลือกตัวอสุจิที่ดี อาจใช้กล้องจุลทรรศน์กำลังสูงขยายดูรูปร่าง อาจใช้สารเคมีพิเศษ หรือการคัดเลือกอสุจิโดยใช้คลื่นแม่เหล็ก มาช่วยคัดเลือกตัวอสุจิที่ดีที่สุด แล้วตัวอสุจินี้จึงจะนำมาปฏิสนธิด้วยวิธีการ ICSI กับฟองไข่ที่เก็บได้ อีกทีหนึ่ง


เพราะปฏิสนธินอกร่างกาย จะเห็นผลเป็นตัวอ่อนเลยใช่มั๊ย

เมื่อเราได้ตัวอ่อนจากการปฏิสนธิแล้ว ตัวอ่อนระยะนี้จะยังมีขนาดเล็กมาก ต้องดูโดยอาศัยกล้องจุลทรรศน์กำลังขยาย เราจะทำการเลี้ยงตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการเลี้ยงตัวอ่อนซึ่งจะถูกควบคุมทั้งอุณหภูมิ แสงสว่าง ความเป็นกรดด่าง และน้ำยาเลี้ยงตัวอ่อน การเลี้ยงตัวอ่อนนี้จะใช้เวลานาน 3-5 วัน ก่อนที่เราจะย้ายตัวอ่อนกลับเข้าสูโพรงมดลูกเพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ต่อไป


ข้อจำกัดของการทำ ICSI

ถึง ICSI จะเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์วิธีหนึ่ง แต่โดยรวมแล้วโอกาสความสำเร็จโดยรวมจากการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธี ICSI ก็ยังอยู่ที่ประมาณ 30-40 % เท่านั้น เพราะยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่เราไม่สามารถควบคุมและแก้ไขได้ เช่น คุณภาพของไข่หรือความผิดปกติของโครโมโซม ทำให้บางคู่ที่มีปัญหาจำเป็นต้องรับการรักษาด้วยการกระตุ้นไข่และทำ ICSI หลายครั้งกว่าจะตั้งครรภ์ได้สำเร็จ
คำแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจหรือกำลังจะทำ


สำหรับคู่สมรสที่วางแผนจะมีบุตร ไม่ว่าจะโดยธรรมชาติหรือรักษาด้วย ICSI ควรเข้ารับการตรวจร่างกาย และตรวจเลือดเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนมีบุตร เพื่อตรวจหาโรคที่อาจเป็นอันตรายกับการตั้งครรภ์ได้ก่อน และหากยังไม่สามารถตั้งครรภ์ได้เองภายในระยะเวลา 1 ปีแรกหลังหยุดคุมกำเนิด ก็ควรเข้ามารับการตรวจรักษาเรื่องมีบุตรยาก เพราะยิ่งรักษาเร็วตอนที่อายุยังน้อย ก็มีโอกาสสำเร็จมากกว่าตอนที่อายุมากขึ้นครับ


ขอบคุณข้อมูลจาก นพ. วรวัฒน์ ศิริปุณย์
สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
โรงพยาบาลเวชธานี ลาดพร้าว 111

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook