แพทย์เตือน "แคะหูบ่อย" ระวัง เสี่ยงเป็น "โรคเชื้อราในช่องหู"
ใครที่ชอบแคะหูอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะหลังการอาบน้ำ ที่จะต้องนำคัตตอนบัดหรือสำลีมาปั่นหูเป็นประจำ พฤติกรรมเหล่านี้อาจทำให้เกิดอาการขี้อุดตัน หูอื้อ แก้วหูทะลุ รวมถึงเสี่ยงต่อ “โรคเชื้อราในช่องหู” อีกด้วย วันนี้ Hello คุณหมอ จะพาไปรู้จักกับโรคเชื้อราในช่องหูให้ละเอียดมากขึ้น
โรคเชื้อราในช่องหู (Otomycosis) คืออะไร?
โรคเชื้อราในช่องหู (Otomycosis) หมายถึง หูชั้นนอกมีการติดเชื้อรา ทำให้หูเกิดการอักเสบ และมีกลิ่นเหม็นภายในช่องหู โดยโรคเชื้อราในช่องหูนั้นมักพบในคนที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคที่มีอากาศอบอุ่นหรือร้อนชื้น และผู้ที่เล่นกีฬาว่ายน้ำ รวมถึงผู้ที่มีอาการป่วยเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคผิวหนัง เป็นต้น อย่างไรก็ตามโรคเชื้อราในช่องหูนั้นไม่ใช่โรคอันตราย ร้ายแรง สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการใช้ยาต้านเชื้อ
โรคเชื้อราในช่องหูเกิดขึ้นได้อย่างไร
โรคเชื้อราในช่องหูเกิดจากเชื้อราเกือบ 60 สายพันธุ์ที่แตกต่างกัน พบได้บ่อยที่สุดคือเชื้อราสายพันธุ์แอสเปอร์จิลลัส (Aspergillus) และแคนดิดา (Candida) นอกจากนี้แบคทีเรียบางชนิดสามารถรวมกับเชื้อราและทำให้เกิดการติดเชื้อมากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะในบุคคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อราในช่องหู ดังนี้
- ผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่อากาศร้อนชื้น มีแนวโน้มในการเกิดเชื้อราในช่องหูมากกว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในภูมิอากาศอื่นๆ เนื่องจากเชื้อราสามารถเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่อากาศร้อนชื้นนั่นเอง
- นักกีฬาว่ายน้ำ มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อราในช่องหูได้มากกว่าคนปกติทั่วไป หากว่ายน้ำในแหล่งน้ำที่ไม่สะอาด
- ภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ
- ผู้ที่มีปัญหาผิวเรื้อรัง ย่อมมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อดังกล่าวนี้
หูอื้อ เรียกไม่ค่อยได้ยิน สัญญาณเตือนของอาการโรคเชื้อราในช่องหู
อาการหูอื้อนั้น เป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนของโรคเชื้อราในช่องหู อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นในหูข้างใดข้างหนึ่ง แต่ในบางกรณีอาจพบในหูสองข้างพร้อมๆกันได้ และพบว่ามีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยดังนี้
- ความสามารถในการได้ยินลดลง
- หูชั้นนอกเกิดการอักเสบ
- มีของเหลวไหลออกมาจากหูเป็นสีขาว สีเหลือง สีเทา สีดำ หรือสีเขียว
- หูมีอาการบวมแดง
- รู้สึกเจ็บปวดบริเวณหูชั้นนอก
วิธีรักษาและการป้องกัน
โรคเชื้อราในช่องหูมีวิธีการรักษาด้วยกันหลายวิธี โดยแพทย์จะทำความสะอาดในรูหูอย่างละเอียด เพื่อกำจัดสิ่งสกปรกตกค้างภายในรูหูออกมา และใช้ยาหยอดหูเพื่อต้านเชื้อราในช่องหู เช่น ยาโคลไตรมาโซล (Clotrimazole) ยาฟลูโคนาโซล (Fluconazole) หรือยาที่มีส่วนผสมของกรดแอซีติก (Acetic acid) โดยมีวิธีในการป้องกันการเกิดเชื้อราในช่องหูดังต่อไปนี้
- ใช้ที่อุดหูขณะว่ายน้ำเพื่อป้องกันน้ำเข้าหู
- หลีกเลี่ยงการเกา หรือ แคะ บริเวณด้านนอกและในรูหู
- ปล่อยให้หูแห้งเอง หลังอาบน้ำหรือหลังว่ายน้ำ หลีกเลี่ยงการใช้สำลีในการทำความสะอาดรูหู