"ไข้หวัดใหญ่" อาจรุนแรงขึ้น เมื่ออยู่ในช่วง "โควิด-19" ระบาด

"ไข้หวัดใหญ่" อาจรุนแรงขึ้น เมื่ออยู่ในช่วง "โควิด-19" ระบาด

"ไข้หวัดใหญ่" อาจรุนแรงขึ้น เมื่ออยู่ในช่วง "โควิด-19" ระบาด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ภาวะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน ได้สร้างความวิตกกังวลและส่งผลกระทบอย่างหนักต่อประชากรทั่วโลก ทั้งยังมีจำนวนของผู้ป่วยและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงหน้าฝน ยังคงมีอีกโรคที่ทำให้หลายฝ่ายต้องเฝ้าระวัง นั่นคือ “โรคไข้หวัดใหญ่” ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ ที่สามารถแพร่กระจายไปสู่คนทุกเพศทุกวัยได้เช่นเดียวกับโควิด-19 เพียงแค่ช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม จนถึง 28 เมษายน 2563 ในประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่มากกว่าโควิด-19 ถึง 33 เท่า พบผู้เสียชีวิตสูงถึง 2 เปอร์เซ็นต์ ทั่วโลก และอัตราการเสียชีวิตยิ่งเพิ่มสูงขึ้นเป็น 26 เปอร์เซ็นต์ ในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งในปีนี้จะเป็นครั้งแรกที่มีโรคระบาดทั้ง 2 โรคพร้อมกัน นอกจากความเสี่ยงที่จะติดโรคใดโรคหนึ่งแล้ว ประชาชนยังมีโอกาสที่จะติดเชื้อร่วมกัน (co-infection) จากทั้งไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 ได้  ซึ่งทำให้มีอาการรุนแรงและยิ่งทำให้การรักษามีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น


ไข้หวัดใหญ่ VS โควิด-19 อาการใกล้เคียงกันมาก

นายแพทย์ วีรวัฒน์ มโนสุทธิ รองผู้อำนวยการสถาบัน กลุ่มแผนปฏิบัติการชาติฯ สถาบันบำราศนราดูร กล่าวว่า “โรคไข้หวัดใหญ่มักระบาดในหน้าฝน ซึ่งมีความน่ากังวลเพราะอาการแสดงของไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 มีความคล้ายคลึงกันมาก และสามารถแพร่กระจายสู่ผู้อื่นเมื่อมีการไอหรือจามได้เช่นเดียวกัน โดยถึงแม้ในปัจจุบันวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะมีแพร่หลาย แต่พบว่าคนที่ได้รับวัคซีนแล้วยังคงสามารถป่วยจากไข้หวัดใหญ่ได้  เนื่องจากวัคซีนอาจมีประสิทธิภาพเพียง 40-60 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นกับสายพันธุ์ของไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในแต่ละปี ล่าสุดพบข้อมูลว่าผู้ป่วยติดเชื้อร่วมกันได้ทั้ง 2 โรค  ซึ่งลำพังเพียงแค่โควิด-19 ก็เพิ่มภาระงานและส่งผลต่อทรัพยากรทางการแพทย์มากเพียงพอแล้ว  เราจึงต้องหาวิธีจัดการกับไข้หวัดใหญ่ในช่วงเวลานี้ให้ไม่ซ้ำเติมกันเข้าไปอีก” 


ติดเชื้อโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่พร้อมกัน อาจมีอาการรุนแรงได้

การติดเชื้อทั้งสองโรคในเวลาเดียวกันหรือ co-infection จะเป็นการเพิ่มความรุนแรงของโรค ซึ่งเป็นอันตรายในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงสูง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์  โดยการศึกษาที่สหรัฐอเมริกาและจีนพบว่าการติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้ออื่นๆร่วมกันได้สูงถึง 20 และ 80 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ และการติดเชื้อร่วมกับโควิด-19 กว่า 60 เปอร์เซ็นต์ พบเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ ที่น่าตกใจกว่านั้นคือการติดเชื้อร่วมกันนั้นเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตสูงถึง 29-55 เปอร์เซ็นต์


อาการโรคไข้หวัดใหญ่ที่สังเกตได้

อาการที่เข้าเกณฑ์การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ประกอบด้วย

  • ไข้สูง 38-40 องศาเซลเซียส

  • ปวดศีรษะ

  • คัดจมูกหรือน้ำมูกไหล

  • เจ็บคอ

  • ไอ

  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ

  • ร่างกายอ่อนเพลีย

หากพบว่ามีอาการดังกล่าวผู้ป่วยควรรีบพบแพทย์ โดยเฉพาะในกรณีที่อาการไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง เพื่อรับคำแนะนำและการรักษาด้วยยาต้านไวรัส ซึ่งยาต้านไวรัสมีประโยชน์ในการบรรเทาอาการของไข้หวัดใหญ่ได้ภายใน 2.3 ถึง 4 วัน ลดความเสี่ยงการเกิดโรคแทรกซ้อน และช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อไวรัสไปสู่คนใกล้ชิดได้ด้วย ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญในช่วงเวลาที่ทุกคนกักตัวในบ้านกับครอบครัวขณะนี้ โดยยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่จะมีประสิทธิผลที่ดีที่สุดเมื่อรับประทานภายใน 48 ชั่วโมงหลังจากมีอาการ และในปัจจุบันมีทางเลือกยาต้านไวรัสหลายชนิด ทั้งชนิดรับประทาน และสูดดมทางจมูกให้เลือกใช้  โดยจะต้องคำนึงถึงทั้งประสิทธิผลและความปลอดภัยไปพร้อมกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook