5 สัญญาณอันตราย อาการ "เม็ดเลือดแดงแตกง่าย" กับอาหารและยาต้องห้าม
อาการ “เม็ดเลือดแดงแตกง่าย” หมายถึง ภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD เป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ทำให้ร่างกายมีอาการเม็ดเลือดแดงแตกง่าย สาเหตุมาจากโครโมโซม X ที่มักพบในเพศชายมีความผิดปกติ
อันตรายของอาการเม็ดเลือดแดงแตกง่าย
ข้อมูลจาก โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ระบุว่า อาการเม็ดเลือดแดงแตกง่าย มักพบในเพศชาย ในภาวะปกติผู้ป่วยมักไม่มีอาการ หากมีการติดเชื้อหรือได้รับยาบางชนิดจะเกิดการกระตุ้น ให้เม็ดเลือดแดงแตกง่ายขึ้นจนเกิดอาการ โลหิตจางรวดเร็ว ดีซ่าน และ/หรือ ปัสสาวะสีน้ำปลา
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุว่าในผู้ที่มีอาการเม็ดเลือดแดงแตกง่าย หรือผู้ที่มีภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD ควรระมัดระวังทั้งในเรื่องของการรับประทานอาหาร การรับประทานยา อาหารเสริม หรือสมุนไพรต่างๆ ที่จะเพิ่มความเสี่ยงทำให้เม็ดเลือดแดงแตกได้
สัญญาณอันตราย อาการ "เม็ดเลือดแดงแตกง่าย"
- ตัวเหลือง
- เพลีย ซีด
- ปัสสาวะสีคล้ายโคล่า
- ปัสสาวะน้อย หรือไม่มีเลย
- หากมีอาการมากๆ อาจเสี่ยงไตวายได้
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง หากมีอาการเม็ดเลือดแดงแตกง่าย
- ถั่วปากอ้า
- ไวน์แดง
- พืชตระกูลถั่ว
- บลูเบอรี่
- ถั่วเหลือง
สารเคมีที่ควรหลีกเลี่ยง หากมีอาการเม็ดเลือดแดงแตกง่าย
- โทนิค (tonic)
- โซดาขิง
- การบูร
รายชื่อยาที่ห้ามใช้ หากมีอาการเม็ดเลือดแดงแตกง่าย
- กลุ่มยาแก้ปวด ลดไข้ ได้แก่ Aspirin, Aminopyrine, Dipyrone(Metamizole), Phenacetin
- กลุ่มยารักษาโรคมาลาเรีย ได้แก่ Chloroquine, Quinine, Primaquine, Hydroxychloroquine
- กลุ่มยาปฏิชีวนะ ได้แก่ ยากลุ่ม Quinolone, Nitroturan, Chloramphenical
- กลุ่มยาเคมีบำบัด เช่น Doxorubicin
- ยากลุ่มซัลฟา เช่น Dapsone, Co-trimoxazole
- ยาโรคหัวใจ และหลอดเลือด ได้แก่ Procainamide, Quinidine และDopamine
- อื่นๆ ได้แก่ Vitamin C, Vitamin K (Menadione, Phytomenadione), Methylene blue, Toluidine blue, สารหนู และ Naphthalene
การปฏิบัติตัว หากมีอาการเม็ดเลือดแดงแตกง่าย
- ไม่ควรซื้อยา อาหารเสริม หรือสมุนไพรกินเอง
- เมื่อมีอาการซีด เหลือง หรือปัสสาวะสีเข้มขึ้น (สีน้ำโคล่า) ควรรีบไปพบแพทย์
- หลีกเลี่ยงการรับประทานถั่วปากอ้า ไวน์แดง พืชตระกูลถั่ว บลูเบอรี่ ถั่วเหลือง
- หลีกเลี่ยงการสูดดมลูกเหม็น การบูร
- แจ้งแพทย์ทุกครั้งว่ามีอาการเม็ดเลือดแดงแตกง่าย หรือมีภาวะพร่อง G6PD พร้อมกับแสดงบัตรประจำตัวที่โรงพยาบาลออกให้ ภายในบัตรจะระบุชื่อยาและสารเคมีที่ต้องหลีกเลี่ยง