5 อาการฉุกเฉิน ใช้บริการ "ทำฟัน" ช่วง "โควิด-19" ได้
ประชาชนควรงดการขอรับบริการทางทันตกรรม หรือทำฟัน ในช่วงการระบาดของโควิด-19 หากไม่ใช่กรณีเร่งด่วน แต่หากเป็นกรณีที่เร่งด่วนและจำเป็นจริงๆ สามารถทำได้ โดยมีมาตรการในการปฏิบัติเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19
นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ แถลงถึงการเตรียมพร้อมของคลินิกทันตกรรมบริการประชาชน ช่วงการระบาดของโควิด-19 ว่า หากเป็นภาวะฉุกเฉินงานบริการทันตกรรมยังให้บริการอยู่ โดยใช้ระบบการนัดหมายผ่านแอพพลิเคชั่นของสถานพยาบาล หรือนัดหมายทางโทรศัพท์
5 อาการฉุกเฉิน ใช้บริการ "ทำฟัน" ช่วง "โควิด-19" ได้
- เหงือกหรือฟันปวดบวม รับประทานยาแก้ปวดยาฆ่าเชื้อหากไม่หาย 2-3 วันให้ไปโรงพยาบาล (รพ.)
- เครื่องมือจัดฟัน ฟันเทียมแตกหักทิ่มแทงเนื้อเยื่อ ครอบฟันชำรุด
- เลือดออกภายในช่องปาก
- อุบัติเหตุปวดบวมบริเวณใบหน้าและขากรรไกร
- กรณีการรักษาเฉพาะทางที่มีการดูแลร่วมกันระหว่างแพทย์และทันแพทย์ เช่น ป่วยโรคมะเร็ง โรคหัวใจ ซึ่งต้องรักษาฟันก่อน เป็นต้น
กรณีไม่เร่งด่วน
- มีการรักษาต่อเนื่องที่ค้างอยู่ เช่น รักษาคลองรากฟัน ฟันผุลึกที่อุดชั่วคราวอยู่ ให้โทรนัดหมายมาใช้บริการได้
- การขูดหินปูน อุดฟันสวยงาม จัดฟันใหม่ ตรวจสุขภาพฟันให้เลื่อนไปก่อน
- กรณีอื่นๆ หากไม่แน่ใจอาการให้โทรสอบถามสถานพยาบาลที่รักษาต่อเนื่อง
ทั้งนี้ บริการทันตกรรมเปิดเกือบปกติแล้ว ประชาชนต้องคัดกรองตัวเอง เมื่อมาถึง รพ.จะคัดกรองอีกครั้ง ก่อนส่งเข้าห้องทันตกรรม และดำเนินการตามมาตรฐานความปลอดภัยในห้องทันตกรรม การทำความสะอาดช่องปาง ทำความสะอาดใบหน้า สวมเฟซชีลด์ บ้วนปากก่อนทำฟัน เป็นต้น ขณะที่สถานพยาบาลจะมีการจัดโซนนิ่งนั่งคอย แยกจากจุดทำฟัน ระบบการถ่ายเทอากาศมีการดูแลอย่างดี มีการเว้นเก้าอี้ห่าง 1 เว้น 1
อย่างไรก็ตาม เพื่อลดจำนวนคนมา รพ.จึงขอความร่วมมือจากประชาชนที่มารับบริการ ขอให้มาคนเดียว หากจำเป็น เช่น ผู้สูงอายุ หรือเด็ก และอาจจะมีคนร่วมเดินทางเพียง 1 คน