ติดเชื้อ "ไวรัส" VS "แบคทีเรีย" ข้อแตกต่าง และวิธีรักษาที่ควรรู้
แม้ไวรัสและแบคทีเรียจะเป็นจุลินทรีย์เหมือนกัน แต่ก็มีหลายอย่างที่แตกต่างกัน และคุณควรรู้ถึงความแตกต่างเหล่านั้น เพื่อที่จะได้ป้องกันการติดเชื้อได้อย่างถูกต้อง หรือเมื่อติดเชื้อแล้ว จะได้รักษาได้อย่างถูกวิธี
ความแตกต่างของการติดเชื้อไวรัส กับการติดเชื้อแบคทีเรีย
แบคทีเรียเป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวขนาดเล็กที่ค่อนข้างซับซ้อน มีผนังเซลล์ที่คงรูป ทำให้สามารถรักษารูปร่างได้ ภายในเซลล์ของแบคทีเรียจะมีของเหลวที่ห่อหุ้มด้วยเยื่อบุบางๆ ลักษณะคล้ายยาง แบคทีเรียนั้นสามารถมีชีวิตอยู่ได้ด้วยตัวเอง และสามารถสร้างอาหารได้ ทั้งยังอยู่รอดได้ในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย จะในพื้นที่ร้อนจัด เย็นจัด มีกากกัมมันตรังสี หรือในร่างกายมนุษย์ แบคทีเรียก็สามารถมีชีวิตอยู่ได้ทั้งนั้น
แบคทีเรียส่วนใหญ่นั้นไม่เป็นอันตราย แถมแบคทีเรียบางชนิดยังจัดว่าเป็นแบคทีเรียชนิดดี (probiotic) ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายของเรา เพราะช่วยในการย่อยอาหาร ช่วยทำลายจุลินทรีย์ก่อโรค ช่วยต่อสู้กับเซลล์มะเร็ง ช่วยดูดซึมสารอาหาร เป็นต้น โดยแบคทีเรียชนิดที่สามารถก่อโรคในมนุษย์ได้นั้น มีน้อยกว่า 1% ด้วยซ้ำ
ส่วนไวรัสนั้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีโครงสร้างง่ายๆ ไม่ซับซ้อน และมีขนาดเล็กกว่าแบคทีเรีย โดยไวรัสชนิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดก็ยังมีขนาดเล็กกว่าแบคทีเรียชนิดที่มีขนาดเล็กที่สุด ไวรัสทุกชนิดจะมีแกนกลางเป็นกรดนิวคลิอิกซึ่งเป็น RNA หรือ DNA และมีโปรตีนห่อหุ้มล้อมรอบ สำหรับการดำรงชีวิตและการเจริญเติบโตของไวรัสก็แตกต่างจากแบคทีเรีย เพราะไวรัสไม่สามารถสืบพันธุ์ได้ด้วยตัวเอง จำเป็นต้องเข้าไปเจริญเติบโตและแพร่พันธุ์ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตเท่านั้น
ไวรัสส่วนใหญ่สามารถก่อโรคได้ และไวรัสบางชนิดก็จะโจมตีเซลล์เฉพาะที่ เช่น ไวรัสชนิดที่โจมตีเซลล์ตับ ไวรัสที่โจมตีระบบทางเดินหายใจ ไวรัสที่โจมตีกระแสเลือด และในบางครั้ง ไวรัสก็โจมตีแบคทีเรียด้วย
การติดเชื้อไวรัส และการติดเชื้อแบคทีเรีย
เราติดเชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรียได้ยังไง
เชื้อไวรัสและแบคทีเรียส่วนใหญ่สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ โดยคุณอาจ ติดเชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรียได้จากสาเหตุเหล่านี้
- การสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น แตะตัว จูบ
- การสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากร่างกายของผู้ที่ติดเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย เช่น สารคัดหลั่งจากมีเพศสัมพันธ์ อย่างน้ำอสุจิ ของเหลวจากช่องคลอด หรือสารคัดหลั่งจากระบบทางเดินหายใจ เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ ที่ออกมาเมื่อไอ จาม
- การถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หรือตอนคลอด
- การสัมผัสพื้นผิวที่มีเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียปนเปื้อน เช่น ลูกบิดประตู ก๊อกน้ำ แล้วเอามือไปสัมผัสใบหน้า ดวงตา ปาก จมูก
- การกินอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย
- การโดนแมลงที่มีเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียกัด
โรคจากการติดเชื้อไวรัสที่พบบ่อย
- ไข้หวัดใหญ่
- ไข้หวัดธรรมดา
- การติดเชื้อไวรัสในลำไส้และกระเพาะอาหาร หรือที่เรียกว่า ไวรัสลงกระเพาะ หรือหวัดลงกระเพาะ
- อีสุกอีใส
- หัด
- เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากไวรัส
- หูด
- การติดเชื้อเอชไอวี
- ไวรัสตับอักเสบ
- ไข้ซิกา
- โควิด-19
โรคจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อย
- คออักเสบ
- การติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ
- อาหารเป็นพิษเนื่องจากเชื้อแบคทีเรีย
- เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ
- เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากแบคทีเรีย
- หนองในแท้
- โรคไลม์
- วัณโรค
- บาดทะยัก
การติดเชื้อแบบไหน ถึงต้องใช้ยาปฏิชีวนะ
แม้เชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียจะเป็นจุลินทรีย์เหมือนกัน แต่ก็ใช่ว่าจะสามารถรักษาด้วยยาปฏิชีวนะได้เหมือนกัน เพราะยาปฏิชีวนะนั้นใช้สำหรับรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียได้เท่านั้น โดยยาปฏิชีวนะจะช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตและการแบ่งตัวของแบคทีเรีย แต่กลับไม่มีผลต่อเชื้อไวรัส หากคุณติดเชื้อไวรัส เช่น เป็นไข้หวัดธรรมดา อาการมักหายเองภายใน 1-2 สัปดาห์โดยไม่ต้องใช้ยา และหากจะรักษาการติดเชื้อไวรัสด้วยยา ก็มักเป็นการใช้ยารักษาตามอาการ ไม่มียารักษาจำเพาะ
แม้ว่ายาปฏิชีวนะจะสามารถรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียได้ แต่คุณก็ต้องใช้ยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และไม่ใช้ยาเกินขนาดเด็ดขาด เพราะอาจทำให้แบคทีเรียปรับตัวจนต้านทานยาปฏิชีวนะ หรือที่เรียกว่าภาวะดื้อยาปฏิชีวนะของเชื้อแบคทีเรีย หรือแบคทีเรียดื้อยา จนทำให้รักษาได้ยากขึ้น
และเมื่อเริ่มใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียตามที่แพทย์สั่งแล้ว คุณก็ควรกินยาให้ครบตามที่แพทย์ระบุด้วย อย่าหยุดยากลางคันเด็ดขาด ถึงแม้จะรู้สึกดีขึ้นแล้วก็ตาม เพราะการกินยาไม่ครบตามจำนวนที่กำหนด อาจทำให้ยังมีเชื้อแบคทีเรียก่อโรคหลงเหลืออยู่ในร่างกาย จนโรคไม่หายขาดได้
วิธีป้องกันการติดเชื้อไวรัส และเชื้อแบคทีเรีย
คุณสามารถป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อไวรัส และเชื้อแบคทีเรียได้ ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- ดูแลสุขอนามัยให้ดี เช่น
- ล้างมือให้สะอาด โดยเฉพาะหลังใช้ห้องน้ำ ก่อนและหลังสัมผัสหรือกินอาหาร หลังสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย
- ไม่เอามือสัมผัสใบหน้า ปาก จมูก และดวงตา หากยังไม่ได้ล้างมือให้สะอาด
- ไม่ใส่ของใช้ส่วนตัว เช่น แก้วน้ำ ช้อนส้อม แปรงสีฟัน ผ้าเช็ดตัว ร่วมกันคนอื่น - เข้ารับการฉีดวัคซีน โดยในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกัน การติดเชื้อไวรัส และแบคทีเรียหลายชนิด เช่น วัคซีนโรคหัด วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนรวมป้องกัน คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก
- หากป่วยควรพักฟื้นที่บ้าน หรือเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล อย่าออกจากบ้านไปทำงาน หรือไปที่สาธารณะ เพราะคุณอาจไปแพร่เชื้อโรคให้ผู้อื่นได้ และอาจติดเชื้อโรคอื่นได้ง่ายด้วย เพราะตอนป่วย ระบบภูมิคุ้มกันจะอ่อนแอลง
- กินอาหารที่สะอาดและปรุงสุก ควรกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกแล้วเท่านั้น หรือหากเป็นผักและผลไม้สด ก็ควรล้างให้สะอาดก่อนกิน
- ป้องกันแมลง สัตว์ กัดต่อย เมื่อต้องอยู่ในที่ที่แมลงชุม เช่น ยุง เห็บ ควรป้องกันด้วยการสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ทายาป้องกันแมลง นอนกางมุ้ง เป็นต้น
- มีเพศสัมพันธ์แบบปลอดภัย ใช้อุปกรณ์ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทุกครั้งเมื่อทำกิจกรรมทางเพศ เช่น ถุงยางอนามัย แผ่นยางอนามัย และไม่ควรมีคู่นอนหลายคน