7 สมุนไพรต้านไวรัส กินประจำลดเสี่ยง "โควิด-19"
ปัจจุบันมีการค้นพบเชื้อไวรัสมากกว่า 400 ชนิด ซึ่งก่อให้เกิดโรคติดเชื้อจากไวรัสต่างๆ มากมาย เช่น โรคติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) โรคไวรัสตับอักเสบบี โรคไวรัสตับอักเสบซี โรคไข้หวัดใหญ่ โรคอีโบลา โรคพิษสุนัขบ้า โรคเมอร์ส (MERS) โรคซาร์ส (SARS) รวมถึงโรคโควิด-19 ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้วยเหตุนี้ ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำให้คุณป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อไวรัสด้วยการฉีดวัคซีน การออกกำลังกาย เป็นต้น และอีกหนึ่งวิธีที่ Hello คุณหมอ อยากแนะนำให้คุณลองก็คือ การบริโภคสมุนไพรต้านไวรัส 7 ชนิดนี้เป็นประจำในปริมาณที่เหมาะสม รับรองทำแล้วร่างกายจะแข็งแรงขึ้น ความเสี่ยงในการติดไวรัสลดลงแน่นอน
7 สมุนไพรต้านไวรัส ที่คุณไม่ควรพลาด
-
ออริกาโน (Oregano)
ออริกาโน เป็นพืชตระกูลเดียวกับมินต์หรือสะระแหน่ และเป็นเครื่องเทศที่นิยมใช้อาหารตะวันตกหลากหลายเมนู ที่เราพบได้บ่อยๆ ก็น่าจะเป็นออริกาโนแห้งที่ใช้โรยหน้าพิซซ่านั่นเอง สมุนไพรชนิดนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มกลิ่นหอมและรสชาติให้กับอาหารจานโปรดของคุณ แต่ยังขึ้นชื่อว่าเป็นสุดยอดสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยา เพราะมีสารพฤกษเคมีมากมาย โดยเฉพาะคาร์วาครอล (carvacrol) ที่มีฤทธิ์ต้านไวรัสและเชื้อรา โดยไม่รบกวนการทำงานของยาปฏิชีวนะอื่นๆ
ผลการศึกษาวิจัยในห้องทดลองชี้ว่า ทั้งน้ำมันออริกาโนและสารสกัดคาร์วอครอลช่วยลดการทำงานของโนโรไวรัส (Norovirus)ในหนูได้ภายในเวลาเพียงแค่ 15 นาทีเท่านั้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญระบุว่า โนโวไวรัสในหนูนั้นคล้ายคลึงกับโนโวไวรัสในมนุษย์ ฉะนั้น ผลลัพธ์ในมนุษย์ก็น่าจะใกล้เคียงกัน
นอกจากนี้ งานศึกษาวิจัยอีกหลายชิ้นยังชี้ให้เห็นว่า ออริกาโนนั้นมีฤทธิ์ต้านไวรัสได้อีกหลายชนิด เช่น ไวรัสเริมชนิดที่ 1 หรือ เอชเอสวี-1 (Herpes simplex virus 1 หรือ HSV-1) ไวรัสโรต้าซึ่งเป็นสาเหตุของท้องร่วง ไวรัสอาร์เอสวีซึ่งเป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ
-
กระเทียม
บางคนอาจไม่ชอบกินกระเทียมเพราะมีกลิ่นฉุน แต่หากอยากให้คุณมองข้ามข้อเสียนี้และลองเปิดใจบริโภคกระเทียมดู เพราะกระเทียมเป็นอีกหนึ่ง สมุนไพรต้านไวรัส ชั้นยอด โดยงานศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งในกลุ่มตัวอย่างผู้ใหญ่ที่เป็นหูดหงอนไก่จำนวน 23 คน พบว่า การทาสารสกัดกระเทียมบริเวณหูดวันละ 2 ครั้ง ช่วยจำกัดหูดได้ภายใน 1-2 สัปดาห์
นอกจากนี้ ยังมีงานศึกษาวิจัยที่ระบุว่า กระเทียมอาจช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอและสายพันธุ์บี ไวรัสเอชไอวี ไรโนไวรัส และโรคปอดอักเสบจากไวรัส อีกทั้งยังพบว่า กระเทียมช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันด้วยการช่วยเพิ่มเซลล์ภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ร่างกายสามารถรับมือกับเชื้อไวรัสได้ดีขึ้น
-
พืชตระกูลกะเพรา-โหระพา
พืชตระกูลกะเพรา-โหระพา เช่น โหระพา กะเพรา แมงลัก จัดเป็น สมุนไพรต้านไวรัส ที่เราสามารถหามาบริโภคได้ง่ายมาก จะนำไปประกอบอาหาร เช่น ผัดกระเพาะ แกงเลียง หรือกินเป็นผักแกล้มน้ำพริก ขนมจีน ก๋วยเตี๋ยวน้ำตกก็ได้
งานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสรรพคุณในการต้านไวรัสของพืชตระกูลนี้นั้นมีมากมาย ยกตัวอย่างเช่น งานศึกษาวิจัยในห้องทดลองชิ้นหนึ่งพบว่า สารสกัดโหระพามีสารประกอบ เช่น อะพิจีนีน (Apigenin) กรดยูโซลิก (Ursolic acid) ที่มีสรรพคุณในการต่อต้านไวรัสเริม ไวรัสตับอักเสบบี เอนเทอโรไวรัส
งานวิจัยอีกชิ้นพบว่า กะเพราช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน จึงอาจช่วยต้านการติดเชื้อไวรัสได้ เนื่องจากเมื่อนักวิจัยให้กลุ่มตัวอย่างผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรงจำนวน 24 คน กินอาหารเสริมสารสกัดกะเพราติดต่อกันเป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่า จำนวนเซลล์ทีเฮลเปอร์ (T helper cell) และเซลล์เพชฌฆาต (Natural Killer Cell) ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ฆ่าเชื้อไวรัสได้ดีกว่าเซลล์เม็ดขาวทั่วไปมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
-
ชะเอมเทศ
ชะเอมเทศ (Licorice) ถูกนำมาใช้เป็นยารักษาโรคมาตั้งแต่ครั้งอดีต เนื่องจากมีสารประกอบหลายชนิดที่มีสรรพคุณในการต้านไวรัสได้ เช่น ไกลเซอร์ไรซิน (Glycyrrhizin) ลิไคริทิจีนิน (Liquiritigenin) กลาบิดิน (Glabridin)
อีกทั้งงานศึกษาวิจัยในห้องทดลองชิ้นหนึ่งยังพบว่า สารสกัดจากรากชะเอมเทศสามารถต้านไวรัสเอชไอวี ไวรัสอาร์เอชวี ไวรัสเริม และไวรัสโคโรนาซึ่งเป็นสาเหตุของโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARS-CoV) ได้ด้วย
-
ขิง
ขิงเป็นพืชอีกหนึ่งชนิดที่ขึ้นชื่อเรื่องเป็น สมุนไพรต้านไวรัส เนื่องจากมีสารประกอบ เช่น จินเจอรอล (Gingerol) ซิงเจอโรน (Zingerone) ที่ช่วยยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส และช่วยป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์
งานศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า สารสกัดขิงช่วยต้านไวรัสไข้หวัดนก ไวรัสอาร์เอสวี และไวรัสคาลิไซในแมว (FCV) ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับโนโวไวรัสในคนได้ด้วย
-
เปปเปอร์มินต์
เปปเปอร์มินต์ (Peppermint) เป็นพืชในตระกูลเดียวกับสะระแหน่ มีสารประกอบที่มีฤทธิ์ต้านไวรัส ต้านแบคทีเรีย และต้านการอักเสบ เช่น เมนทอล กรดโรสมารินิค (Rosmarinic Acid) ทั้งยังมีฤทธิ์เป็นสารขับเหงื่อชั้นยอด จึงนิยมนำมาบริโภคเพื่อขับเหงื่อเวลาเป็นไข้ด้วย โดยคุณสามารถหาเปปเปอร์มินต์มาบริโภคได้หลากหลายรูปแบบ เช่น ใบสด ใบแห้ง ชา น้ำมันหอมระเหย
-
โสม
โสมเป็นอีกหนึ่ง สมุนไพรต้านไวรัส ที่นิยมนำมาใช้ในตำราแพทย์แผนตะวันออก เนื่องจากมีสารประกอบกลุ่มจินเซนโนไซด์ (Ginsenoside) ที่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าสามารถต้านไวรัสได้หลายชนิด เช่น ไวรัสตับอักเสบบี โนโรไวรัส ไวรัสตระกูลคอกแซกกี้ (Coxsackie virus) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อรุนแรง อย่างโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น
สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือใช้ยาบางชนิด เราแนะนำให้คุณปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจบริโภค สมุนไพรต้านไวรัส ทั้ง 7 ชนิดนี้ และควรบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะด้วย จะได้ช่วยเสริมการป้องกันการติดเชื้อไวรัสได้ โดยไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงใดๆ