"โปรแกรมตรวจสุขภาพออนไลน์" ให้ผลแม่นยำ และน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน?
การศึกษาครั้งใหม่พบว่า การใช้โปรแกรมทางอินเตอร์เน็ตเพื่อตรวจเช็กร่างกายและระบุอาการเจ็บป่วยนั้นไม่ค่อยถูกต้องนัก หนำซ้ำยังอาจเป็นอันตรายอีกด้วย
คณะนักวิจัยชาวออสเตรเลียที่มหาวิทยาลัย Edith Cowan University ในเมืองเพิร์ทประเทศออสเตรเลีย เป็นผู้ทำการศึกษาเรื่องนี้ โดยผลของการศึกษานี้ตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Medical Journal of Australia
โปรแกรมตรวจสอบสุขภาพออนไลน์ต่าง ๆ มักพบได้ทั่วไปผ่านโปรแกรมการค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ตัวอย่างเช่น Google จะถูกค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องสุขภาพประมาณ 70,000 ครั้งต่อทุก ๆ หนึ่งนาที
การศึกษาดังกล่าวได้ตรวจสอบโปรแกรมตรวจสุขภาพทางอินเทอร์เน็ตจากหลายประเทศ 36 โปรแกรมด้วยกัน โปรแกรมเหล่านั้นจะสอบถามเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ จากนั้นจะใช้ข้อมูลที่ได้รับมาเพื่อระบุว่าผู้ตอบแบบสอบถามป่วยเป็นอะไร และบางโปรแกรมยังแนะนำด้วยว่าควรจะไปพบแพทย์หรือไม่
จากการศึกษาพบว่า โดยรวมแล้วโปรแกรมตรวจสุขภาพออนไลน์นั้นให้ผลการวินิจฉัยครั้งแรกถูกต้องราว 36% และวินิจฉัยถูกต้องภายในผลลัพธ์สามอันดับแรกราว 52%
Michella Hill นักศึกษาที่มหาวิทยาลัย Edith Cowan ซึ่งเป็นหัวหน้าการศึกษาวิจัยนี้กล่าวว่า การค้นพบนี้แสดงให้เห็นว่า เหตุใดผู้ใช้จึงควรระมัดระวังเกี่ยวกับการใช้โปรแกรมเหล่านั้นเพื่อการวินิจฉัยโรค เพราะวิธีนี้นอกจากจะไม่น่าเชื่อถือแล้ว ยังอาจเป็นอันตรายอีกด้วย
และว่า หนึ่งในปัญหาหลักของโปรแกรมการตรวจสุขภาพออนไลน์คือการวินิจฉัยจากข้อมูลที่น้อยเกินไป โดยที่ไม่ได้มองภาพรวม ไม่ทราบประวัติทางการแพทย์และอาการป่วยอื่น ๆ ของผู้ใช้
เธอกล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับผู้ที่ไม่มีความรู้ด้านสุขภาพ อาจจะคิดว่าคำแนะนำที่ได้รับนั้นถูกต้อง หรือคิดว่าอาการของตนไม่ได้หนักหนาสาหัสอะไร ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วอาจจะอาการหนักก็เป็นได้
อย่างไรก็ดี การศึกษาของออสเตรเลียพบว่า โปรแกรมตรวจสุขภาพออนไลน์แสดงผลลัพธ์ที่แม่นยำกว่าเมื่อแนะนำเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ที่ผู้ใช้ควรไปพบแพทย์ คำแนะนำสำหรับกรณีฉุกเฉินและอาการป่วยที่ร้ายแรงนั้นถูกต้องราว 60% และอัตราดังกล่าวลดลงเหลือเพียง 30%-40% เมื่อให้คำแนะนำสำหรับกรณีที่ไม่ฉุกเฉิน
Hill กล่าวว่า เธอคิดว่าโปรแกรมตรวจสุขภาพออนไลน์นั้นจะสามารถช่วยเติมเต็มความต้องการในระบบสุขภาพที่ทันสมัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และว่า เว็บไซต์เหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่จะทดแทนการไปพบแพทย์ แต่อาจเป็นประโยชน์ในการให้ข้อมูลเพิ่มเติมเมื่อผู้ใช้ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์แล้ว
ระบบ Goggle Trends มีรายงานว่า ผู้คนใช้ Google ในการค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 มากที่สุดในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยคำที่มีการใช้ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอาการของไวรัสโคโรนามากที่สุดในช่วงสี่เดือนที่ผ่านมาคือ Fever (เป็นไข้) ตามด้วยคำว่า Sore throat (เจ็บคอ) Shortness of breath (หายใจติดขัด) Loss of taste (สูญเสียรสชาติ) และ Loss of smell (สูญเสียกลิ่น)
นอกจากนี้ Google ยังมีโปรแกรมสำหรับผู้ใช้ในการตรวจสอบอาการที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากไวรัสโคโรนา ทางบริษัทกล่าวว่า โปรแกรมดังกล่าวได้รับการออกแบบมาเพื่อการให้ข้อมูลเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อการวินิจฉัยโรค
องค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาว่า มีการวางแผนที่จะเปิดตัวอุปกรณ์ตรวจสอบอาการโควิด-19 ซึ่งคาดว่าเครื่องมือที่เป็นอุปกรณ์นี้จะได้รับความนิยมในประเทศที่ไม่สามารถผลิตเองได้
รอยเตอร์รายงานว่า บรรดานักวิศวกรและนักออกแบบ รวมถึงผู้ที่เคยทำงานกับ Google และ Microsoft ได้สละเวลาของพวกเขาในการพัฒนาแอปดังกล่าวนี้ให้กับองค์การอนามัยโลก