กลิ่นปากจาก ′น้ำลายน้อย′ มาได้ไง?
คอลัมน์ เรื่องฟันFunกับทันต จุฬาฯ
ทพ.นพ.ธิติพงษ์ พฤกษศรีสกุล
เมื่อน้ำลายน้อยลง เชื้อแบคทีเรียในช่องปากจะเจริญเติบโตเพิ่มจำนวนมากขึ้น ทำให้เกิดกลิ่นปากได้มากขึ้น ซึ่งโดยปกติแล้ว ต่อมน้ำลายเราผลิตน้ำลายออกมาประมาณ 1 ลิตรต่อวัน เลยทีเดียว
สาเหตุที่ทำให้น้ำลายน้อยมีหลายอย่าง ได้แก่ ดื่มน้ำน้อย เมื่อมีความเครียดน้ำลายจะมีความข้นเหนียวและหนืดมากขึ้น ขณะนอนหลับร่างกายจะผลิตน้ำลายน้อยลง ทำให้เราจะมีกลิ่นปากรุนแรงหลังตื่นนอนซึ่งเป็นทุกคน การนอนกรนหรือการหายใจทางปาก จะทำให้น้ำลายยิ่งแห้งลงไปอีกขณะที่เรานอนหลับ
ผู้สูงอายุจะมีการทำงานของต่อมน้ำลายลดลงทำให้น้ำลายน้อยลง ยาหลายชนิดทำให้น้ำลายลดลง เช่น ยานอนหลับ ยาแก้แพ้ ยาขับปัสสาวะ ยารักษาผู้ป่วยจิตเวช เป็นต้น ดื่มเหล้า เบียร์ หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เนื่องจากแอลกอฮอล์ดึงน้ำออกจากเนื้อเยื่อที่สัมผัส และการย่อยสลายแอลกอฮอล์ภายในร่างกายทำให้เกิดสารประกอบจำพวกแอลดีไฮด์ ซึ่งเป็นสารที่มีกลิ่นเหม็นขับออกมาจากลมหายใจได้ รวมถึงน้ำยาบ้วนปากบางชนิดที่ผสมแอลกอฮอล์ก็ทำให้ปากแห้งได้เช่นกัน ผู้ป่วยที่เคยได้รับการฉายรังสีรักษาโรคมะเร็งบริเวณศีรษะและลำคอ ก็ทำให้ต่อมน้ำลายถูกทำลายและเกิดปัญหาปากแห้งได้
วิธีแก้ไขคือ ดื่มน้ำเปล่าที่สะอาดให้เพียงพอไม่น้อยกว่าวันละ 8 แก้ว หรือ 2 ลิตรต่อวัน หากมีภาวะน้ำลายน้อยต้องจิบน้ำปริมาณน้อยๆ แต่บ่อยๆ ตลอดวัน ทุก 5-10 นาที เพื่อทำให้ช่องปากชุ่มชื้นอยู่ตลอดทั้งวัน ยิ่งเป็นน้ำอุ่นได้ยิ่งดีจะช่วยขจัดเสมหะและคราบขาวสกปรกบนลิ้นได้ดียิ่งขึ้น หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มหรือใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
การที่มีภาวะน้ำลายน้อยเรื้อรังนี้ อาจทำให้เกิดฟันผุ โรคเหงือกอักเสบ และโรคปริทันต์ได้ง่ายกว่าคนปกติ ดังนั้น จึงควรหมั่นดูแลทำความสะอาดช่องปากโดยการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟัน รวมทั้งพบทันตแพทย์เพื่อขูดหินปูนทำความสะอาดฟันและตรวจหาฟันผุ เพื่อลดปัญหาภายในช่องปากรวมทั้งกลิ่นปากได้อีกทางหนึ่ง
ภาพประกอบ istockphoto