วิธีสังเกต "เนื้อวัวฉีดไขมัน" กินแล้วเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่?

วิธีสังเกต "เนื้อวัวฉีดไขมัน" กินแล้วเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่?

วิธีสังเกต "เนื้อวัวฉีดไขมัน" กินแล้วเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เฟซบุ๊กเพจ หมอเวร เผยถึง “เนื้อวัวฉีดไขมัน” เนื้อลายสวยๆ ที่ไม่ได้มาจากธรรมชาติ แต่เป็นการฉีดไขมันแทรกเข้าไปในเนื้อเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับเนื้อแล้วขายได้ในราคาที่สูงขึ้น พร้อมวิธีสังเกตเนื้อลายหินอ่อนตามธรรมชาติ และเนื้อฉีดไขมันจากฝีมือมนุษย์ และความปลอดภัยในการบริโภคเนื้อฉีดไขมันต่อร่างกาย

มีทเลิฟเวอร์ทุกคนคงยากที่จะปฏิเสธถึงความอร่อยเข้มข้นและนุ่มลิ้นของเนื้อ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อย่าง สเต็ก หรือเนื้อตุ๋น บางคนถึงขั้นชอบรับประทานเนื้อดิบ การวัดคุณภาพของเนื้ออย่างง่ายๆ ด้วยสายตา คือลายหินอ่อนสวยงามที่เป็นสีของเนื้อสีแดงพร้อมลายพริ้วสีขาวอมเหลืองนวลที่เป็นชั้นไขมันแทรกอยู่ในเนื้อในปริมาณที่พอดี จะทำให้การปรุงเนื้อชิ้นนั้นรับรองได้เลยว่านุ่มชุ่มฉ่ำลิ้นอย่างแน่นอน

แต่ เฟซบุ๊กเพจ หมอเวร พูดถึงกลยุทธ์ที่ผู้ผลิตใช้เรื่องของลายหินอ่อนของชั้นไขมันในเนื้อมาขายบริโภค ด้วยการ “ฉีดไขมัน” เข้าไปในชั้นเนื้อเอง เพื่อให้เกิดริ้วชั้นไขมันสวยๆ เหมือนเนื้อเกรดดีตามธรรมชาติ และขายผู้บริโภคในราคาที่สูงขึ้น


วิธีสังเกต ลายเนื้อธรรมชาติ VS ลายเนื้อฉีดไขมัน

สังเกตได้ง่ายๆ จากริ้วชั้นไขมันบนเนื้อที่ฉีดไขมันจะมีลายเส้นที่ไม่เป็นธรรมชาติ เป็นเส้นเล็กๆ ละเอียดเล็ก และเชื่อมต่อเป็นเส้นยาวๆ หากเป็นริ้วชั้นไขมันบนเนื้อธรรมชาติจะเป็นลายที่มีความเป็นธรรมชาติ สวยงามเหมือนลายหินอ่อนจริงๆ มากกว่า แต่ริ้วลายที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ได้เชื่อมต่อกันเป็นเส้นยาว อาจเป็นริ้วๆ ขาดๆ เส้นมีความกว้างหลายขนาด ทั้งเส้นเล็กๆ เส้นบางๆ หรือเส้นหนาๆ (ที่อาจเป็นเส้นยาวๆ ได้)

หากนำเนื้อที่แช่แข็ง หรือแช่เย็นมาตั้งทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้อง เนื้อที่ฉีดไขมันอาจจะมีไขมันละลายเยิ้มแยกตัวออกมา ในขณะที่เนื้อธรรมชาติจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

หลังจากปรุงสุกแล้วลายเนื้อจะสังเกตได้ยากขึ้น และรสชาติก็ใกล้เคียงกันมาก ยิ่งเจอการปรุงรสเข้าไปยิ่งแยกลำบาก

beef

(ภาพบน) เนื้อที่มีชั้นไขมันตามธรรมชาติ (ภาพล่าง) เนื้อวัวฉีดไขมัน


เนื้อวัวฉีดไขมัน อันตรายต่อสุขภาพหรือเปล่า?

ไขมันที่นำมาฉีดในชั้นกล้ามเนื้อของเนื้อสด มีหลายประเภท

  1. ไขมันจากสัตว์ (ไขมันหมู ไขมันเนื้อ)

  2. ไขมันจากพืช (อาจมีการระบุว่าเป็นเนื้อฮาลาล)

  3. ผลไขมันที่เป็น กรดคอนจูเกเตดไลโนเลอิก ที่สกัดจากนมวัว น้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน เนย และชีส

การผลิตเนื้อฉีดไขมันในขณะนี้ยังคงเป็นเนื้อนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากในประเทศไทยยังไม่ได้รับอนุญาตจากภาครัฐให้ทำการผลิตเนื้อฉีดไขมันได้เอง

กระบวนการผลิตเนื้อฉีดไขมันส่วนใหญ่ ได้รับการรับรองความปลอดภัยตามมาตรฐาน HACCP (Hazard Analysis Critical Control Point เป็นระบบการวิเคราะห์อันตราย และจุดวิกฤติที่ต้องควบคุมในการผลิตอาหาร ที่เป็นมาตรฐานในการส่งออกผลิตภัณฑ์ทั่วโลก) ดังนั้นจึงสามารถมั่นใจในความปลอดภัยในการบริโภคได้ แต่ควรเลือกซื้อจากผู้ผลิตที่มีความน่าเชื่อถือ เพราะอาจเสี่ยงเจอเนื้อฉีดไขมันที่ลักลอบนำเข้าจากผู้ผลิตเถื่อน ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ว่านำไขมันชนิดใดมาฉีดเข้าไปในเนื้อ และหากกระบวนการผลิตไม่สะอาดเพียงพอ ใครที่นิยมบริโภคเนื้อที่ไม่ได้ปรุงสุก 100% (เช่น สเต็กมีเดียมแรร์) อาจเสี่ยงท้องเสียท้องร่วง อาหารเป็นพิษได้ นอกจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อฉีดไขมัน หรือเนื้อที่มีชั้นไขมันตามธรรมชาติ ก็เป็นเนื้อที่มีปริมาณไขมันสูง จึงควรจำกัดการบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม เพราะหากบริโภคมากเกินไป อาจเสี่ยงโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือดได้เช่นกัน

หากเป็นเนื้อฉีดไขมัน ไม่ควรราคาสูงมากกว่าเนื้อที่มีชั้นไขมันสวยตามธรรมชาติ จึงควรสังเกตและเปรียบราคาและคุณภาพให้ดี และเลือกบริโภคเนื้อจากผู้ผลิต และร้านที่ไว้ใจในคุณภาพได้เท่านั้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook