"มะเร็งเต้านม" กับ 8 เรื่องที่คนมักเข้าใจผิด

"มะเร็งเต้านม" กับ 8 เรื่องที่คนมักเข้าใจผิด

"มะเร็งเต้านม" กับ 8 เรื่องที่คนมักเข้าใจผิด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 1 ในเพศหญิง และยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตที่พบได้ค่อนข้างบ่อยอีกด้วย แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีเรื่องเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านมมากมาย Sanook Health จึงนำข้อเท็จจริงที่หลายคนอาจเข้าใจผิดเกี่ยวกับมะเร็งเต้านม จาก ศ.ดร.นพ.พรชัย โอเจริญรัตน์ หัวหน้าสาขาวิชาศัลยกรรมศีรษะ คอ และเต้านม ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มาฝากกัน

"มะเร็งเต้านม" กับ 8 เรื่องที่คนมักเข้าใจผิด

1. ขนาดเต้านมใหญ่กว่า เสี่ยงมะเร็งเต้านมมากกว่า

ขนาดของเต้านมไม่มีผลต่อความเสี่ยงของโรคมะเร็งเต้านม ขนาดของเต้านมอาจมาจากไขมัน ซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือเป็นสาเหตุของมะเร็งเต้านมแต่อย่างใด หากมีขนาดเต้านมเล็ก มีส่วนของเนื้อเต้านมในปริมาณปกติ ก็สามารถเป็นมะเร็งเต้านมได้เช่นกัน

2. ยกทรงที่ไม่เหมาะสม เป็นสาเหตุของมะเร็งเต้านม

รูปแบบของยกทรง ไม่มีความเกี่ยวข้องกับมะเร็งเต้านม แม้ว่ายกทรงจะมีลักษณะบีบรัด หรือหน้าอกเกิดการกระแทกบ่อยๆ ก็ยังไม่มีการศึกษาที่ชี้ชัดว่าเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งเต้านมแต่อย่างใด

3. ประจำเดือนมาเร็ว เสี่ยงมะเร็งเต้านมมากกว่า

เด็กหญิงไทยจะมีอายุเฉลี่ยของการเริ่มมีประจำเดือนอยู่ที่ 13 ปี แต่อาจจะเริ่มมีประจำเดือนได้ที่อายุ 10-11 ปี แลัวอาจจะหมดประจำเดือนที่อายุ 48-49 ปี หากอายุ 55 ปียังมีประจำเดือนอยู่ อาจหมายความว่ามีบางช่วงของชีวิตที่มีฮอร์โมนอยู่ในร่างกายเยอะ อาจมีความเป็นไปได้ว่าจะเสี่ยงมะเร็งได้ แต่ก็เป็นแค่ 1 ในหลายๆ ปัจจัยที่ทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งเต้านมได้ แต่ก็ไม่ใช่ปัจจัยเสี่ยงเสมอไปเช่นกัน

4. ซีสต์ = มะเร็งเต้านม

ซีสต์ หรือถุงน้ำ ส่วนใหญ่จะไม่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง ซีสต์เกิดจากเนื้อเต้านมตอบสนองต่อฮอร์โมนสูงกว่าปกติ จึงมีการสร้างน้ำขึ้นมาในท่อ จนเกิดเป็นถุงน้ำขึ้นมา ถุงน้ำเหล่านี้ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับมะเร็งแต่อย่างใด

5. แมมโมแกรม เสี่ยงมะเร็ง

ปัจจุบัน แมมโมแกรมที่ใช้ตรวจมะเร็งเต้านมในโรงพยาบาลต่างๆ ในประเทศไทยจะเป็นรูปแบบของดิจิตอล จะมีการใช้โปรแกรมซอล์ฟแวร์เข้ามาคำนวณ ซึ่งแสดงผลได้ละเอียดยิ่งขึ้น ปริมาณรังสีที่ใช้ในการถ่ายภาพแต่ละครั้งจะน้อย น้อยกว่าการเอกซ์เรย์ปอดประจำปีด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นการที่รังสีจากแมมโมแกรมจะเข้าไปเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งนั้น สามารถเกิดขึ้นได้น้อยมาก

6. ศัลยกรรมหน้าอก เสี่ยงมะเร็ง

ปัจจุบันการเสริมหน้าอกจะใช้เป็นถุงซิลิโคน ซึ่งมีการศึกษามาอย่างยาวนาน หรือแม้กระทั่ง FDA หรือ อย. ของอเมริกาก็ยืนยัน และอนุญาตให้ใช้ซิลิโคนได้ และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ต่อการเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็ง แต่ผู้หญิงที่เสริมหน้าอกอาจทำให้การตรวจหน้าอก หรือการทำแมมโมแกรม อัลตร้าซาวนด์ ทำได้ยุ่งยากขึ้น จึงเป็นข้อที่ต้องระมัดระวัง

7. มะเร็งเต้านม ผู้ชายไม่เป็น

ผู้ชายก็มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้ แม้ว่าทางศิริราชพยาบาลจะพบเพียง 3-5% ต่อปี หรือราวหลักสิบจากผู้ป่วยรายใหม่ทั้งหมด 1,000 รายต่อปี

8. มะเร็งเต้านม โอกาสรอดต่ำ

เฉพาะผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา จนถึงผ่าตัดจนครบถ้วนทุกขั้นตอนที่ศิริราช ผู้ป่วยกว่า 90% มีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปี และผู้ป่วย 80% ที่มีอัตราการรอดชีวิตเกิน 10 ปี

ในผู้หญิงไทยอายุ 35-40 ปี ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองครั้งแรก โดยการทำแมมโมแกรมร่วมกับอัลตร้าซาวนด์เต้านม ถ้าสามารถพบ และวินิจฉัยโรคได้ตั้งแต่ระยะที่ 1 โอกาสที่จะมีชีวิตรอดเกิน 10 ปีมีมากถึง 95%

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook