อย่ามองข้าม! สัญญาณเตือน “มะเร็งตับ”

อย่ามองข้าม! สัญญาณเตือน “มะเร็งตับ”

อย่ามองข้าม! สัญญาณเตือน “มะเร็งตับ”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โรคมะเร็งตับเป็นโรคที่พบมากเป็นอันดับ 1 ในชายไทย และอันดับ 2 ในหญิงไทย ซึ่งกว่าผู้ป่วยจะรู้ตัวก็มักเข้าสู่ระยะสุดท้ายของโรคแล้ว เพราะมะเร็งตับมักไม่มีสัญญาณหรืออาการบ่งบอกในระยะแรก จึงทำให้มีอัตราการเสียชีวิตสูง  

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ระบุว่าปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดมะเร็งตับ ได้แก่ โรคตับแข็งจากทุกๆ สาเหตุ ทั้งจากการดื่มสุราที่จากการสำรวจพบว่าประเทศไทยมีประชากรดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มากเป็นอันดับ 5 ของโลก ทั้งไวรัสตับอักเสบทั้งชนิดบีและซี โดยเฉพาะชนิดบีที่พบว่ามีคนไทยเป็นพาหะนำโรคนี้กว่า 6 ล้านคน และมากกว่าครึ่งของเด็กแรกเกิดที่ติดเชื้อจากแม่ จะกลายเป็นพาหะหรือตับอักเสบเรื้อรัง โดยหลายรายจะเสียชีวิตด้วยโรคตับแข็งหรือมะเร็งตับก่อนอายุ 50 ปี 

อย่างไรก็ตาม หากตรวจคัดกรองหาโรคมะเร็งเป็นประจำทุกปี จะช่วยให้แพทย์สามารถให้การรักษาได้อย่างทันท่วงที ซึ่งจะลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตของโรคมะเร็งตับลงได้ 


ใครบ้างที่ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองหาโรคมะเร็งตับ?

  1. ผู้ป่วยโรคตับแข็งทั้งเพศหญิงและชาย เนื่องจากร้อยละ 80 ของมะเร็งตับ มักเกิดในผู้ป่วยที่เป็นโรคตับแข็ง ได้แก่ โรคตับแข็งจากสุรา ไวรัสตับอักเสบบีและซี สารพิษอะฟลาท๊อกซิน ภาวะธาตุเหล็กสะสมที่ตับ โรคทางพันธุกรรม และเมตาบอลิกต่างๆ
  1. ผู้ป่วยโรคตับอักเสบเรื้อรังที่เกิดจากไวรัสตับอักเสบบี หรือผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีตั้งแต่แรกคลอดหรือวัยเด็ก แม้ยังไม่มีโรคตับแข็ง แต่มีความเสี่ยงต่อมะเร็งตับสูงในเพศชายที่มีอายุมากกว่า 45 ปี และผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 50 ปี และมีประวัติมะเร็งตับในครอบครัว
  1. ผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังที่มีปริมาณพังผืดในตับมากในระดับ 3 และ 4 ควรได้รับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งตับ 


อาการเตือนที่ไม่ควรมองข้าม

ส่วนใหญ่แล้วอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น มักมีลักษณะคล้ายคลึงกับโรคอื่นๆ ทั่วไป จึงทำให้หลายคนมองข้าม ซึ่งกว่าจะปรากฏอาการชัดเจนและเข้ารับการวินิจฉัยจากแพทย์ก็ลุกลามอยู่ในระยะท้ายของโรคแล้ว และนี่คือสัญญาณเตือนที่อาจบ่งชี้ว่าโรคมะเร็งตับกำลังคุกคามอยู่โดยไม่รู้ตัว 

  1. เบื่ออาหารอย่างเห็นได้ชัด รู้สึกแน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อเป็นประจำ การย่อยอาหารไม่ดี บางครั้งปรากฏอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย  

  2. ปวดหรือเสียดท้องบริเวณชายโครงขวาหรือท้องส่วนบนด้านขวา ซึ่งเป็นตำแหน่งของตับ โดยมีอาการปวดอย่างต่อเนื่องหรือเป็นครั้งคราว แต่ถ้าเนื้องอกของมะเร็งตับมีการลุกลาม อาการเจ็บก็จะรุนแรงขึ้น และอาจคลำเจอก้อนแข็งบริเวณชายโครงขวา 

  3. อ่อนเพลีย มีไข้ต่ำเป็นประจำ น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ และมีอาการบวมน้ำทำให้ขาบวมทั้งสองข้าง 

  4. มีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง เพราะเมื่อตับอ่อนแอ จึงไม่สามารถกำจัดสารสีเหลือง (บิลิรูบิน) ในกระแสเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงทำให้เกิดภาวะเหลืองผิดปกติ 

  5. ท้องมานหรือท้องโต ซึ่งเกิดจากตับทำงานผิดปกติ ทำให้มีของเหลวสะสมอยู่ในช่องว่างระหว่างเยื่อหุ้มช่องท้องกับอวัยวะภายในช่องท้อง ท้องจึงดูโตขึ้น และส่งผลให้คันตามผิวหนังด้วย เนื่องจากสารสีเหลืองและน้ำดี ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง

ดังนั้น หากรู้เท่าทันอาการของโรคเหล่านี้ และรีบพบแพทย์แต่เนิ่นๆ ก็จะลดการสูญเสียลงได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ ซึ่งจะช่วยป้องกันโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ให้ไกลตัวได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook