สัญญาณอันตราย ร่างกายกำลัง "แพ้ยา"
อาการแพ้ยาจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเราต้องกินยาตัวนั้นเข้าไป เมื่อมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ถึงจะสงสัยได้ว่าอาจเป็นเพราะยา หรืออาหารที่กินเข้าไปล่าสุด แต่อาการที่ว่าผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้หลังกินยาที่ทำให้แพ้จะมีอะไรที่เราสามารถสังเกตได้บ้าง Sanook Health มีข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มาฝากกัน
สัญญาณอันตราย ร่างกายกำลัง "แพ้ยา"
อาการแพ้ยามี 4 ประเภท ดังนี้
ชนิดที่ 1
แพ้ยาชนิดเฉียบพลัน จะเริ่มแพ้ยาภายใน 1 ชั่วโมง โดยอาการที่พบได้ มีดังนี้
- หายใจลำบาก
- ช็อก
- ผื่นขึ้น
- มีอาการบวม เช่น ผิวหนังบวม ตาบวม ปากบวม เป็นต้น
- ความดันโลหิตต่ำ
ชนิดที่ 2
เป็นอาการแพ้ยาที่ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเหมือนชนิดแรก แต่อาจรุนแรง และเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตได้ เพราะส่งผลถึงภูมิคุ้มกัน เม็ดเลือดแดง และเม็ดเลือดออกอาจถูกทำลาย อาการที่พบ มีดังนี้
- อ่อนเพลีย
- หัวใจเต้นรัว
- ปัสสาวะสีเข้ม
- เกล็ดเลือดต่ำ
ชนิดที่ 3
เป็นอาการแพ้ที่เกิดขึ้นหลังจากกินยาไป 1-3 สัปดาห์ อาการที่พบได้แก่
- มีไข้
- ผื่นคัน
- อ่อนเพลีย
- ปวดข้อ
- ต่อมน้ำเหลืองโต
- ความดันโลหิตต่ำ
ชนิดที่ 4
เป็นอาการแพ้ที่มีความรุนแรงถึงอวัยวะภายใน เช่น
- ผิวหนังอักเสบ
- ตับอักเสบ
- และอาจพบอวัยวะอื่นๆ อักเสบด้วย
ทำอย่างไร เมื่อสงสัยว่าตัวเองอาจ “แพ้ยา”
- หยุดยาที่เพิ่งรับประทาน หรือสงสัยว่าอาจเป็นตัวการที่ทำให้เกิดอาการแพ้ทันที
- รีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด โดยนำยา หรือซองยาที่รับประทานอยู่ในช่วงนั้นไปให้แพทย์ดูด้วย
ข้อควรรู้
- ยาฉีด จะมีโอกาสแพ้มากกว่ายากิน
- การใช้ยาขนาดสูง (ปริมาณมาก) จะเสี่ยงแพ้มากกว่าการยาขนาดต่ำ (ปริมาณน้อย)
หากตรวจพบว่าตัวเองแพ้ยา ควรปฏิบัติดังนี้
- พกบัตรแพ้ยาติดตัวเสมอ
- พยายามจำชื่อสามัญทางยาที่ตัวเองแพ้เอาไว้ให้ได้
- แจ้งแพทย์ทุกครั้งว่าแพ้ยาอะไร