"ฝังเข็ม" ประโยชน์-ความเสี่ยงที่ควรทราบก่อนรับการรักษา
การรักษาโรคด้วยการฝังเข็ม เป็นการรักษาโรคอีกรูปแบบหนึ่ง มันสามารถรักษาอาการป่วยได้หลายอย่าง แต่บางคนอาจจะคิดว่าการฝังเข็มนั้นดูเป็นวิธีการรักษาที่น่ากลัว และอาจจะมีความเจ็บปวดเกิดขึ้น เพราะต้องใช้เข็มทิ่มเข้าไปยังผิวหนัง ดังนั้น เพื่อให้ทุกคนได้รู้จักการรักษาโรคด้วยการฝังเข็มให้ดีขึ้น ทาง Hello คุณหมอ จึงได้นำเรื่องนี้มาฝากกัน
ทำความรู้จักกับการรักษาโรคด้วยการ "ฝังเข็ม"
การฝังเข็ม (Acupuncture) เป็นวิธีการรักษาของแพทย์แผนจีนโบราณ การฝังเข็มนั้นสามารถรักษาอาการได้หลายอย่างด้วยการกระตุ้นจุดเฉพาะบนผิวหนังด้วยเข็ม การฝังเข็มเข้าไปในผิวหนังนั้นก็เพื่อจะไปกระตุ้นพื้นที่ที่อุดมไปด้วยเส้นประสาทของผิว ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อเนื้อเยื่อ ต่อมอวัยวะ และการทำงานต่างๆ ของร่างกาย ทั้งยังมีจุดประสงค์เพื่อปรับสมดุลพลังงานด้วย
โดยระหว่างการรักษาด้วยการฝังเข็ม ผู้ที่รับการรักษาอาจจะทำให้รู้สึกเจ็บเล็กน้อยตรงบริเวณที่เข็มแทรกเข้าไป อาจจะทำให้เกิดความรู้สึกไม่สบายเล็กน้อย แต่ก็มีสัญญาณเพียงพอที่จะทำให้รู้ว่าร่างกายมีการตอบสนอง ซึ่งการตอบสนองที่เกิดขึ้นจะเกี่ยวข้องกับการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ส่งเสริมการไหลเวียนของเลือดไปยังพื้นที่ที่ต้องทำการรักษาบาดแผล
การรักษาโรคด้วยการฝังเข็ม ช่วยรักษาอาการอะไรได้บ้าง
จากการวิจัยที่ดำเนินการในประเทศเยอรมนีแสดงให้เห็นว่า การฝังเข็มอาจช่วยบรรเทาอาการปวดหัวและไมเกรนได้ นอกจากนั้นยังได้รับการพิสูจน์จากศูนย์การแพทย์ผสมผสานและสุขภาพองค์รวมแห่งชาติ (National Center of Complementary and Integrative Health หรือ NCCIH) แล้วว่า สามารถช่วยรักษาอาการเหล่านี้
- ปวดหลัง
- เจ็บคอ
- โรคข้อเข่าเสื่อม
- ปวดเข่า
- ปวดหัวและไมเกรน
นอกจากนั้นในปี 2003 ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ระบุว่าการฝังเข็มได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาอาการเหล่านี้
ความดันโลหิตสูงและความดันโลหิตต่ำ อาการคลื่นไส้ อาเจียน จากยาเคมีบำบัด ความผิดปกติของกระเพาะอาหารบางอย่าง รวมถึงแผลในกระเพาะอาหาร อาการเจ็บปวด โรคบิด โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ปวดใบหน้า แพ้ท้อง โรคไขข้ออักเสบ เคล็ดขัดยอก โรคเอ็นอักเสบข้อศอกด้านนอก (Tennis Elbow) อาการปวดสะโพกร้าวลงขา (Sciatica) ปวดฟัน ลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง เจ็บครรภ์คลอด (Inducing Labor) ประโยชน์ของการรักษาโรคด้วยการฝังเข็ม
ประโยชน์ของการฝังเข็ม
สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับจากการรักษาโรคด้วยการฝังเข็ม ก็คือ
- ปลอดภัย ด้วยวิธีการรักษาที่ถูกต้อง
- มีผลข้างเคียงน้อยมาก
- สามารถใช้ร่วมกับการรักษาอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- สามารถควบคุมความเจ็บปวดบางประเภท
- การฝังเข็มอาจมีผลดีต่อผู้ป่วยที่ใช้ยาแก้ปวดที่ไม่เหมาะสม
แต่ทั้งนี้ ทางศูนย์การแพทย์ผสมผสานและสุขภาพองค์รวมแห่งชาติ (National Center of Complementary and Integrative Health หรือ NCCIH) แนะนำเอาไว้ว่า ไม่ควรใช้การฝังเข็มในการดูแลสุขภาพแทนการดูแลสุขภาพจากผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์
ความเสี่ยงอาจเกิดขึ้นจากการรักษาโรคด้วยการฝังเข็ม
แน่นอนว่าการรักษาทั้งหมดนั้นมีทั้งประโยชน์และความเสี่ยง ซึ่งความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นของการฝังเข็ม คือ
- อาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยที่มีเลือดออกผิดปกติ หรือผู้ที่ต้องกินยาเจือจางเลือด
- อาจมีเลือดออก ช้ำ และปวด บริเวณที่ได้รับการฝังเข็ม
- เข็มที่ไม่ได้รับการฆ่าเชื้ออย่างเหมาะสมอาจทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อ
- ในบางกรณีเข็มอาจหัก และทำลายอวัยวะภายใน
- เมื่อฝังเข็มลึกเข้าไปในหน้าอกหรือหลังส่วนบน อาจมีความเสี่ยงต่อการยุบของปอด แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากมาก
ทางองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Food and Drug Administration หรือ FDA) ได้กำหนดให้เข็มที่ใช้ในการฝังเข็มเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ การผลิตและการติดฉลากต้องได้มาตรฐาน เข็มจะต้องปลอดเชื้อ ปลอดสารพิษ และติดฉลากเพื่อใช้เพียงครั้งเดียว และต้องใช้โดยผู้ประกอบวิชาชีพที่ได้รับใบอนุญาตเท่านั้น
คำแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการรักษาโดยการฝังเข็ม คือ ควรจะต้องรักษาควบคู่ไปกับการรักษาทางการแพทย์แบบดั้งเดิมไปด้วย ในกรณีที่มีการเจ็บป่วยเรื้อรังหรือรุนแรง