อันตราย! กิน "ลูกเนียงดิบ" ปริมาณมาก เสี่ยง "ไตวายเฉียบพลัน"
อธิบดีกรมควบคุมโรค เตือน กิน "ลูกเนียง" ในปริมาณมากเสี่ยงอันตรายจากสารพิษ "กรดเจงโคลิค" ทำลายระบบประสาทของไตให้เสื่อมลง เสี่ยงไตวายเฉียบพลัน แนะต้มให้สุก หรือหั่นชิ้นบางๆ แล้วนำไปตากแดดก่อนลดพิษในลูกเนียงให้น้อยลงได้
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน (ปี 2559-2563) พบเหตุการณ์อาหารเป็นพิษจากการรับประทานพืชทุกปี รวม 7 เหตุการณ์ จำแนกเป็น พิษจากกลอย 3 เหตุการณ์ พบผู้ป่วยรวม 65 คน มีผู้เสียชีวิต 2 คน พิษจากสบู่ดำ 1 เหตุการณ์ พบผู้ป่วย 5 คน พิษจากว่านจักจั่น 2 เหตุการณ์ พบผู้ป่วย 2 คน และล่าสุด พบจากพิษลูกเนียง 1 เหตุการณ์ พบผู้ป่วย 1 คน
สำหรับเหตุการณ์ล่าสุด พบเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานผู้ป่วยอาหารเป็นพิษจากการรับประทาน “ลูกเนียง” ดิบปริมาณมากจิ้มน้ำพริก ในพื้นที่จังหวัดตาก โดยมีอาการปวดหน่วงท้องน้อย ปัสสาวะลำบากมาก เป็นเลือดแดงสด และไม่กี่ชั่วโมงต่อมาปัสสาวะไม่ออก ผลตรวจปัสสาวะพบตะกอนเหลืองขุ่น เมื่อส่องกล้องจุลทรรศน์พบผลึกรูปเข็มของกรดอะมิโนชื่อ กรดเจงโคลิก และมีเม็ดเลือดแดงปนออกมาจำนวนมาก ตรวจเลือดพบว่ามีภาวะไตวายเฉียบพลัน
อันตรายจากลูกเนียง
การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่า ในช่วงนี้มีโอกาสจะพบผู้ป่วยอาหารเป็นพิษจากการรับประทานลูกเนียงได้ เนื่องจากในช่วงนี้ของทุกปีเป็นฤดูกาลที่ต้นลูกเนียงเริ่มให้ผลผลิตและออกสู่ตลาด ทำให้ประชาชนเก็บหรือซื้อมารับประทาน ซึ่งการรับประทานในปริมาณที่มากจะทำให้เกิดอาการป่วยจากอาหารเป็นพิษได้
“ลูกเนียง” หรือ “เมล็ดเนียง” ประชาชนภาคใต้นิยมกินกับน้ำพริกหรือแกงพุงปลา หรือนำมาต้มทำของหวาน ส่วนที่นำไปกินคือ เมล็ดข้างในเปลือก มีกลิ่นฉุน รสชาติมัน อร่อย กินได้ทั้งผลอ่อนและแก่ ลูกเนียงมีสรรพคุณช่วยควบคุมเบาหวาน และขับปัสสาวะ แต่ในด้านความเป็นพิษพบว่ามีสารพิษที่เรียกว่า "กรดเจงโคลิค" เป็นกรดอะมิโนที่มีกรดกำมะถันสูงมาก สารพิษชนิดนี้จะทำลายระบบประสาทของไตให้เสื่อมลง หากอาการรุนแรงจะทำให้ไตล้มเหลวจนถึงเสียชีวิตได้ อาหารเป็นพิษจากลูกเนียงโดยทั่วไปพบได้น้อย
วิธีสังเกตอาการหลังได้รับพิษลูกเนียง
โดยรายที่มีอาการพบว่า กินลูกเนียงดิบปริมาณมาก แล้ว 2-14 ชั่วโมงต่อมา จะมีอาการดังนี้
- ปวดบริเวณขาหนีบ
- ปัสสาวะลำบาก
- ปวดปัสสาวะมาก
- น้ำปัสสาวะขุ่นข้นเป็นสีน้ำนม
- อาจปัสสาวะเป็นเลือด
- บางรายมีอาการปวดท้องเป็นพักๆ ร่วมกับอาการคลื่นไส้อาเจียน
- ในรายที่รุนแรงขึ้นอาจปัสสาวะไม่ออก ซึ่งเรียกว่าเป็น “นิ่ว” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “มัด” และอาจเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายได้เองใน 3-4 วัน
- บางรายมีไข้ต่ำ ปัสสาวะน้อย และมีความดันโลหิตสูงได้
กรมควบคุมโรค ขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังในการกินพืชที่เข้าใจว่ากินได้ ซึ่งหากกินในปริมาณมากเกินไปหรือไม่ทำให้พิษในพืชน้อยลงหรือหมดไป อาจทำให้เป็นอันตรายได้ จึงควรสืบค้นหรือถามข้อมูลก่อน
วิธีลดพิษในลูกเนียง
วิธีการลดพิษในลูกเนียงให้น้อยลงคือ
- นำเมล็ดไปเพาะในทราย ให้มีหน่อต้นอ่อนงอกออกมา
- นำเมล็ดไปต้มให้สุก
- หั่นชิ้นบางๆ แล้วนำไปตากแดดก่อน
และหากมีอาการสงสัยอาหารเป็นพิษจากลูกเนียง หรือหลังกินพืชบางชนิดแล้วมีอาการผิดปกติ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน มึนงง ให้รีบไปพบแพทย์และบอกประวัติการกินอาหารที่สงสัยให้เจ้าหน้าที่ทราบ เพื่อให้การรักษาได้ถูกต้องและทันเวลา
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422