รู้จัก Elder Abuse ปัญหาทารุณกรรม “ผู้สูงอายุ” ที่พบมากไม่แพ้เด็ก

รู้จัก Elder Abuse ปัญหาทารุณกรรม “ผู้สูงอายุ” ที่พบมากไม่แพ้เด็ก

รู้จัก Elder Abuse ปัญหาทารุณกรรม “ผู้สูงอายุ” ที่พบมากไม่แพ้เด็ก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เราอาจจะคุ้นชินกับปัญหา Child Abuse หรือปัญหาทำร้ายเด็ก แต่จริงๆ แล้วผู้สูงอายุก็มีปัญหาถูกทำร้ายเช่นเดียวกัน และพบได้บ่อยในสังคมไทยด้วย ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพกาย และจิตใจของผู้สูงอายุมากกว่าที่คิด

Elder Abuse เป็นอย่างไร?

ปัญหาการทำร้ายผู้สูงอายุส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากสมาชิกในครอบครัวที่ให้การปฏิบัติกับผู้สูงอายุในบ้านอย่างไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะผ่านคำพูด การกระทำ และการบีบบังคับต่างๆ ซึ่งส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุเหล่านี้ไม่ดีเท่าที่ควร และยังส่งผลให้เป็นสาเหตุของโรคต่างๆ ทั้งโรคที่มาจากสภาพร่างกายที่เสื่อมโทรมและแย่ลงกว่าที่ควรเป็น และสภาพจิตใจที่โดนทำร้ายมาอย่างต่อเนื่อง และยาวนาน

ในประเทศไทย เฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ พบว่า มีผู้สูงอายุราว 48.4% ที่เคยถูกทำร้ายในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการถูกทำร้ายทางร่างกาย 43.1% ถูกทำร้ายทางจิตใจ 20.7% ถูกเอาเปรียบ เอาผลประโยชน์ 14.8% ถูกล่วงละเมิดสิทธิ 12.8% และทำร้ายร่างกาย 8.6%


ลักษณะการทารุณกรรมผู้สูงอายุ

การทารุณกรรมผู้สูงอายุมีตั้งแต่การไม่ใส่ใจ ไปจนถึงการกระทำที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุอย่างชัดเจน เช่น

  • ไม่ดูแลเรื่องอาหารการกิน ที่อยู่ ฯลฯ
  • ทอดทิ้ง ไม่ใส่ใจ ไม่เลี้ยงดู
  • ไม่ร่วมวงสนทนา เมินเฉย
  • เบียดเบียนทรัพย์สิน
  • ล่วงละเมิดสิทธิต่างๆ
  • บังคับให้ดูแลหลาน
  • ให้ทำงานบ้าน ดูแลบ้าน ทั้งที่ร่างกายไม่แข็งแรง
  • ไม่ให้ร่วมกิจกรรมในครอบครัว
  • พูดจาไม่นึกถึงจิตใจคนฟัง
  • พูดจาข่มขู่ ขาดความเคารพยกย่อง
  • คนในบ้าน ผู้ดูแลแสดงอาการเบื่อหน่ายที่ต้องดูแลผู้สูงอายุ
  • ทุบตี ทำร้ายด้วยอุปกรณ์ต่างๆ
  • ขังให้อยู่ในบ้าน ในห้อง
  • กระทำทารุณกรรมทางเพศ

และอีกมากมาย


สาเหตุของการทารุณกรรมผู้สูงอายุ

สาเหตุการถูกทารุณกรรมของผู้สูงอายุอาจมีความคล้ายคลึงกันกับการทารุณกรรมเด็กในบางส่วน กล่าวคือ การที่สภาพร่างกายไม่สมบูรณ์ 100% หรือพิการ จนทำให้ต้องพึ่งพาคนในบ้าน หรือคนอื่นๆ ในการดูแลในด้านต่างๆ การมีโรคภัยไข้เจ็บที่ทำให้ต้องได้รับการดูแลใส่ใจเป็นพิเศษ ร่วมกับการขาดทักษะดูแลสภาพบ้าน และการใช้ชีวิตนอกบ้าน จนทำให้ผู้สูงอายุจำเป็นต้องพึ่งพาคนในบ้านมากขึ้น และหากคนในบ้านไม่เข้าใจ หรือมองว่าเป็นการเบียดเบียนชีวิต ก็อาจสร้างความรำคาญจนทำให้เกิดการไม่ใส่ใจ เกิดอารมณ์โมโหที่อาจรุนแรงจนถึงขั้นทำร้ายทางด้านต่างๆ ผ่านคำพูด การกระทำ และอาจถูกเอารัดเอาเปรียบในด้านต่างๆ ได้


ผลกระทบต่อสุขภาพของผู้สูงอายุ เมื่อถูกทำทารุณกรรม

สุขภาพทั้งทางร่างกาย และจิตใจของผู้สูงอาจถูกทำร้ายได้ในหลายรูปแบบ เช่น

  • เป็นโรคต่างๆ ทางร่างกาย เช่น โรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ขาดสารอาหาร กล้ามเนื้อต่างๆ โรคประจำตัวกำเริบ ฯลฯ
  • โรคทางจิตใจ เช่น โรคซึมเศร้า แยกตัว หวาดระแวง สิ้นหวัง ฯลฯ
  • คุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ เสื่อมถอยลง จากการไม่ดูแลใส่ใจ เช่น การไม่ได้กินข้าว ไม่ให้เงินใช้ ไม่ให้ออกจากบ้าน


วิธีลดการทารุณกรรมในผู้สูงอายุ

เมื่อทีมแพทย์ได้พบกับผู้สูงอายุและถามไถ่ วินิจฉัยจนทราบถึงสาเหตุของอาการผิดปกติ หรือโรคต่างๆ ที่ผู้สูงอายุเป็นมาจากการทารุณกรรม หรือการได้รับการดูแลไม่เหมาะสม แพทย์อาจนัดคุยกับญาติเพื่อปรับความเข้าใจ และให้ข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อผู้สูงอายุอย่างถูกวิธี และติดตามอาการ ประเมินผลทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้สูงอายุเรื่อยๆ จนกว่าคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุจะเป็นปกติให้ได้มากที่สุด

คนในบ้าน และผู้ดูแลผู้สูงอายุ สามารถดูแลผู้สูงอายุได้ ดังนี้

  • ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ พูดคุยเรื่องทั่วไป มีปฏิสัมพันธ์กับผู้สูงอายุ
  • จัดเตรียมอาหารที่ถูกสุขลักษณะ และมีโภชนาการที่เหมาะสมกับวัย และสุขภาพของผู้สูงอายุ
  • ระมัดระวังเรื่องการรับประทานยา และการดูแลตัวเองต่างๆ หากผู้สูงอายุมีโรคประจำตัว
  • ไม่บังคับขู่เข็ญให้อยู่แต่ในบ้าน หากเป็นห่วงไม่อยากให้ออกไปนอกบ้าน ควรดูแลพาไปเอง
  • ไม่ใช้ถ้อยคำดูถูกดูแคลน ไม่รักษาน้ำใจ ไม่ให้ความเคารพกับผู้สูงอายุ
  • ไม่ให้ผู้สูงอายุทำอะไรเกินกำลัง เนื่องจากสุขภาพอาจไม่แข็งแรง เช่น อุ้มหลาน ทำงานบ้านหนักๆ เป็นต้น
  • ไม่เบียดเบียนสิทธิ และเงินทองของผู้สูงอายุ อีกทั้งยังต้องจัดการปัจจัย 4 เงินทองที่ต้องใช้จ่ายในชีวิตประจำวันให้ผู้สูงอายุอย่างเหมาะสม
  • ไม่ทำร้ายร่างกายผู้สูงอายุ
  • พาไปพบหมอเมื่อสุขภาพมีปัญหา


หากมีปัญหากับการเลี้ยงดูผู้สูงอายุภายในบ้าน สามารถขอคำปรึกษากับแพทย์ประจำคลินิกผู้สูงวัยที่โรงพยาบาลใกล้บ้านได้ แต่พบเห็นการกระทำทารุณกรรมต่อผู้สูงอายุ สามารถแจ้งตำรวจ กรมกิจการผู้สูงอายุ หรือสายด่วน ศูนย์ช่วยเหลือสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โทร. 1300

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook