“มะเร็งตับ” อาการ ความเสี่ยง และการป้องกัน
จากข้อมูลผู้ป่วยประเทศไทยในปี พ.ศ.2560 พบว่า โรคมะเร็งที่พบมากที่สุดในเพศชายคือ โรคมะเร็งตับ ส่วนในเพศหญิงพบเป็นอันดับที่ 4 รองจากโรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งปากมดลูก และโรคมะเร็งลำไส้
“โรคมะเร็งตับ” ที่พบบ่อยในประเทศไทย
โรคมะเร็งตับ ที่พบได้บ่อยในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ โรคมะเร็งเซลล์ตับ (Hepatocellular carcinoma) และ โรคมะเร็งท่อน้ำดี (Cholangiocarcinoma)
สาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งตับ
สาเหตุที่สำคัญของการเกิดโรคมะเร็งตับ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบีและซี ซึ่งติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน การรับเลือดหรือสารคัดหลั่งของร่างกายจากผู้เป็นพาหะ และการถ่ายทอดจากมารดาสู่บุตร ภาวะตับแข็งจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็เป็นสาเหตุสำคัญของการโรคมะเร็งตับเช่นกัน นอกจากนี้ การบริโภคอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งตับได้ เช่น การได้รับสารพิษอะฟลาท็อกซิน จากการบริโภคถั่วลิสง กระเทียม หรือพริกแห้งที่มีเชื้อรา รวมถึงการบริโภคปลาน้ำจืดที่ปรุงไม่สุก ซึ่งอาจมีพยาธิใบไม้ในตับ ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งตับชนิดท่อน้ำดีได้
อาการของโรคมะเร็งตับ
ผู้ป่วยโรคมะเร็งตับในระยะเริ่มต้นจะไม่มีอาการแสดงใดๆ ดังนั้นเมื่อมีอาการเกิดขึ้นและรับการตรวจจากแพทย์โรคมักดําเนินไปมากแล้ว อาการที่บ่งบอกว่าเป็นโรคมะเร็งตับคือ ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องซีกขวาด้านบน คลําพบก้อนเนื้อบริเวณท้องซีกขวาด้านบน มีอาการอ่อนเพลีย น้ำหนักลดเนื่องจากท้องอืดและแน่นท้อง เกิดภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อบุช่องท้อง โรคดีซ่าน และมีภาวะเลือดออกภายในร่างกาย
การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งตับ
การตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็งตับ ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกจะได้ผลดี ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้
- การตรวจร่างกายโดยแพทย์ โดยแพทย์จะคลำหน้าท้องของผู้ป่วย เพื่อดูขนาดตับและม้าม
- การตรวจหาระดับแอลฟาฟีโตโปรตีน (Alpha Fetoprotein) ซึ่งเป็นสารบ่งชี้โรคมะเร็งตับ
- การตรวจวินิจฉัยโดยใช้เครื่องมือพิเศษ เช่น เครื่องอัลตราซาวนด์ เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) และเครื่องเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
- การตัดชิ้นเนื้อตับเพื่อตรวจทางพยาธิวิทยา
การรักษาโรคมะเร็งตับ
แนวทางการรักษาโรคมะเร็งตับขึ้นอยู่ระยะของโรคและขนาดของก้อนมะเร็ง โดยแพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วย ซึ่งสามารถทำการรักษาได้หลายวิธี เช่น การผ่าตัด การฉีดยาเฉพาะที่เข้าก้อนมะเร็งโดยตรง การฉีดแอลกอฮอล์เข้าก้อนมะเร็งผ่านทางผิวหนัง การฉายรังสี และการรักษาด้วยเคมีบำบัด
วิธีดูแลตนเองเพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันโรคมะเร็งตับ
การป้องกันโรคมะเร็งตับสามารถทำได้โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ถูกสุขลักษณะ ไม่รับประทานอาหารสุกๆดิบๆ อาหารที่มีเชื้อรา และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ งดหรือลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบีหรือซี รวมถึงเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ
แม้ว่าโรคมะเร็งตับจะเป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตของผู้ป่วย แต่หากรู้ตัวก่อนก็สามารถรักษาได้ เพราะฉะนั้นเราควรดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ รวมถึงการหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของตัวเองด้วยตัวเอง(เช่น การที่น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ มีไข้ต่ำเป็นประจำ ปวดหรือเสียดชายโครงขวาหรือคลำพบก้อนในช่องท้อง เป็นต้น) รวมถึงการตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตจากโรคมะเร็งตับได้