ออกกำลังกายแบบ "แอนแอโรบิค" คืออะไร? แตกต่างจาก "แอโรบิค" อย่างไร?
ทุกคนน่าจะรู้จักการออกกำลังกายแบบ "แอโรบิค" แต่บางคนอาจไม่คุ้นหูกับการออกกำลังกายแบบ "แอนแอโรบิค" มันคืออะไร แล้วการออกกำลังกายแบบแอโรบิค กับ แอนแอโรบิค ส่งผลอย่างไรต่อร่างกายบ้าง แบบไหนเหมาะสมกับเรา หรือดีต่อร่างกายเรามากกว่ากัน เรามีคำตอบมาฝาก
แอโรบิค คืออะไร?
การออกกำลังกายแบบแอโรบิค (Aerobic) คือ การออกกำลังกายที่ร่างกายมีการใช้ออกซิเจน โดยเน้นความสำคัญไปที่การหายใจเข้าออก เพื่อให้หัวใจและหลอดเลือดเกิดการสูบฉีด สามารถส่งต่อออกซิเจนไปใช้เป็นพลังงานตลอดการออกกำลังกาย
กิจกรรมแบบแอโรบิค เช่น
- ว่ายน้ำ
- วิ่ง
- ปั่นจักรยาน
- กระโดดเชือก
- เดิน
การออกกำลังกายแบบแอโรบิค มีส่วนช่วยให้สุขภาพดี เช่น
- ช่วยป้องกันโรคหัวใจ เพราะการออกกำลังกายแบบแอโรบิค จะกระตุ้นการทำงานของหัวใจ ปอด หลอดเลือดให้แข็งแรง จึงช่วยลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจได้
- ช่วยลดน้ำหนัก การออกกำลังกายแบบแอโรบิค จะช่วยในการเผาผลาญแคลอรี่ ซึ่งเป็นปัญหาสำหรับผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน
- ช่วยเพิ่มสมดุลของระดับน้ำตาลในเลือด อินซูลิน (Insulin) ทำหน้าที่สำคัญในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เมื่อออกกำลังกายแบบแอโรบิค ร่างกายจะสามารถผลิตอินซูลินได้ไวขึ้น แต่ร่างกายจะใช้อินซูลินน้อยลง ส่วนกล้ามเนื้อจะใช้ กลูโคส (Glucose) จากเลือดมาเป็นพลังงาน จึงมีส่วนช่วยควบคุมไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงจนเกินไป
- ช่วยป้องกันความเสี่ยงของโรคเบาหวาน
- ลดเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง
- ป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง การออกกำลังกายแบบแอโรบิคมีส่วนช่วยทำให้ระบบหัวใจและหลอดเลือดแข็งแรง จึงมีส่วนช่วยลดโอกาสในการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
- ช่วยเรื่องของการเคลื่อนไหว การออกกำลังกายแบบแอโรบิคเป็นประจำ จะช่วยให้สามารถเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระและมั่นคง ไม่ลื่นหกล้มหรือเกิดการบาดเจ็บได้ง่าย
แอนแอโรบิค คืออะไร?
การออกกำลังกายแบบแอนแอโรบิค (Anaerobic) คือ การออกกำลังกายที่ร่างกายไม่ใช้ออกซิเจน เนื่องจากเป็นรูปแบบของการออกกำลังกายที่ค่อนข้างจะหนักหน่วง รวดเร็ว และต้องใช้ความแข็งแรง จนแทบไม่มีเวลาหายใจ หัวใจและหลอดเลือดไม่สามารถสูบฉีดออกซิเจนไปยังกล้ามเนื้อได้เพียงพอต่อความต้องการ
กล่าวคือในขณะที่ออกกำลังกายก็จะไม่รู้สึกเลยว่าเหนื่อย จะรู้สึกหอบและเหนื่อยเป็นบางช่วงเท่านั้น และเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ กิจกรรมแบบแอนแอโรบิค เช่น
- กระโดด
- วิ่งเร็ว
- ออกกำลังกายแบบเวทเทรนนิ่ง
การออกกำลังกายแบบแอนแอโรบิค มีส่วนช่วยให้สุขภาพดี เช่น
- เสริมความทนทานของร่างกาย การออกกำลังกายแบบแอนแอโรบิคนั้นแทบจะไม่ใช้พลังงานที่มาจากออกซิเจนเลย ร่างกายจึงแทบจะไม่รู้สึกเหนื่อยหรือหอบ ดังนั้น หากสามารถผ่านการออกกำลังกายแบบแอนแอโรบิคได้ การออกกำลังกายแบบอื่นๆ ก็จะง่ายมากขึ้น
- ช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง เพราะในระหว่างการออกกำลังกายแบบแอนแอโรบิค ร่างกายแทบไม่ได้ใช้ออกซิเจนเป็นพลังงานเลย แต่ใช้พลังงานสะสมในกล้ามเนื้อแทน ด้วยกระบวนการนี้จึงเป็นการช่วยเพิ่มมวลของกล้ามเนื้อให้มากขึ้นและเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อตามไปด้วย
- ช่วยให้กระดูกแข็งแรง เพราะการออกกำลังกายประเภทนี้แทบจะไม่ต้องใช้ออกซิเจนเลย จึงมีส่วนช่วยเพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูก ช่วยให้กระดูกแข็งแรง และลดความเสี่ยงของการเป็นโรคกระดูกพรุน
- ช่วยลดไขมัน การออกกำลังกายที่ต้องใช้แรงและความเร็วสูงเช่นนี้ สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเผาผลาญไขมันและแคลอรี่ได้เป็นอย่างดี
ออกกำลังกายแบบแอโรบิค กับ แอนแอโรบิค อย่างไหนช่วยลดน้ำหนักได้ดีกว่ากัน
แน่นอนว่าการออกกำลังกาย จะในรูปแบบใดก็ตามล้วนแล้วแต่มีจุดประสงค์ช่วยให้ร่างกายแข็งแรงด้วยกันทั้งสิ้น ทั้งการออกกำลังกายแบบแอโรคบิคและการออกกำลังกายแบบแอนแอโรบิค แม้แต่การหวังผลเรื่องของการช่วยลดน้ำหนัก การออกกำลังกายทั้งสองชนิดก็ล้วนแล้วแต่มีส่วนช่วยเผาผลาญไขมันและแคลอรี่ทั้งสิ้น
หากจะถามว่าอย่างใดดีกว่ากันนั้น ก็ต้องยกให้การออกกำลังกายแบบแอนแอโรบิค หรือ การออกกำลังกายแบบฮิต (High-Intensity Intermittent Exercise หรือ HIIT) เนื่องจากเป็นการออกกำลังกายที่ใช้ทั้งแรงและความเร็วมากกว่า จึงช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและกระดูกให้แข็งแรง สามารถเผาผลาญไขมันได้มากกว่าการออกกำลังกายแบบแอโรบิค
อย่างไรก็ตาม แม้การออกกำลังกายแบบแอนแอโรบิคจะให้ประสิทธิภาพในการลดไขมัน และช่วยลดน้ำหนักได้ดีกว่า แต่ผู้ออกกำลังกายควรจะเลือกการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสภาพปัจจัยของตนเอง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บที่รุนแรงขณะออกกำลังกาย โดยอาจเริ่มจากการออกกำลังกายแบบแอโรบิคก่อน เมื่อร่างกายเริ่มคุ้นชินแล้วจึงขยับไปเป็นการออกกำลังกายแนวแอนแอโรบิค