ติดเชื้อ "เอชไอวี (HIV)" มีโอกาสรักษาหายหรือไม่?
ในสมัยก่อนหากเราได้ชมละครไทยหลายๆ เรื่องที่มีตัวละครเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ทุกคนอาจจะเดากันว่าตัวละครนั้นจะต้องเสียชีวิตแน่ๆ รวมถึงผู้ติดเชื้อเอชไอวีในชีวิตจริงด้วย แต่จริงๆ แล้วเชื้อเอชไอวีอันตรายถึงชีวิตเสมอไปหรือไม่?
ติดเชื้อเอชไอวี รักษาอย่างไร?
ศ. พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลผ่านทาง รายการพบหมอรามา ช่วง Meet The Experts วิวัฒนาการรักษาโรคเอดส์ ว่า ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีสามารถกินยาต้านเชื้อเอชไอวีได้ โดยต้องกินยาให้ครบและตรงเวลาทุกวัน และต้องกินไปตลอดชีวิต
อย่างไรก็ตาม จากการที่ผู้ป่วยต้องกินยาเป็นกำๆ มากถึง 15-20 เม็ดต่อวัน ในปัจจุบันมีการพัฒนาจนลดเหลือเพียงวันละ 1 เม็ด นอกจากนี้ยังช่วยลดผลข้างเคียงของยาที่เคยมีในตัวยาสมัยก่อน เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และผื่นแพ้ยา ได้อีกด้วย
ความคืบหน้าของยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวี
นอกจากยากิน ยังมีการวิจัยเพิ่มเติมถึง “ยาฉีด” ที่จะทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องกินยาทุกวัน โดยยาฉีด 1 เข็ม อาจทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องกินยาไป 1-2 เดือน หากการวิจัยสำเร็จสมบูรณ์ อาจมีการนำมาใช้กับผู้ป่วยต่อไป
ติดเชื้อเอสไอวี "HIV" มีโอกาสรักษาหายหรือไม่?
ยาต้านไวรัสเอชไอวีจะเข้าไปยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อเอชไอวี ยังไม่สามารถเข้าไปฆ่าเชื้อหรือกำจัดเชื้อเอชไอวีออกจากร่างกายจนหายได้ แต่ก็สามารถทำให้ผู้ป่วยสามารถมีชีวิตได้อย่างปกติเหมือนคนทั่วไป และยังมีอายุขัยใกล้เคียงกับคนปกติอีกด้วย
ในอดีตเคยมีผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีรายเดียวของโลกที่หายจากไวรัสเอชไอวีได้ จากการปลูกถ่ายไขกระดูกเพื่อรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เซลล์ที่ปลูกถ่ายเป็นเซลล์ชนิดพิเศษที่มีคุณสมบัติในการต้านทานการติดเชื้อเอชไอวี ทำให้เชื้อเอชไอวีไม่กลับมาอีก แต่การปลูกถ่ายไขกระดูกยังมีข้อจำกัดเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูงตั้งแต่หลักแสนไปจนถึงหลักล้าน ต้องหาไขกระดูกที่เข้ากันได้ อีกทั้งยังมีผลข้างเคียงหลายอย่าง ทั้งภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ เซลล์ใหม่ที่ใส่เข้าไปในร่างกายต้านกับเซลล์เก่า หรือผลข้างเคียงจากการให้ยาเคมีบำบัดรวมถึงการฉายแสงทั่วร่างกาย ซึ่งมีความเสี่ยงมากเช่นกัน
งานวิจัยในอนาคตอาจมุ่งเน้นไปที่การปลูกถ่ายไขกระดูก การเริ่มยาต้านเอชไอวีอย่างเร็วภายใน 2 สัปดาห์แรกก่อนที่ผลตรวจจะเป็นบวก และวิธีอื่นๆ ต่อไป
วิธีรักษาอาการติดเชื้อเอชไอวีที่ดีที่สุด
หากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาตั้งแต่ระยะแรกๆ ยิ่งพบเร็วก็จะยิ่งรักษาได้ง่าย หากพบว่าตัวเองมีความเสี่ยง เช่น คู่นอนเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี ควรเข้ารับการตรวจโดยเร็ว เพราะหากไม่รู้ตัว หรือไม่กล้าพบแพทย์เพื่อตรวจในระยะแรกๆ หากมีอาการมากแล้วอาจเสี่ยงอันตรายภาวะแทรกซ้อน รวมถึงการไม่เข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ก็เป็นอันตรายต่อร่างกายด้วยเช่นกัน
ตรวจเอชไอวี ฟรี!
เอชไอวี ตรวจฟรี รู้เร็ว การตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีแบบรู้ผลในวันเดียว สำหรับคนไทยทุกคนที่มีบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก และครอบคลุมทุกกลุ่มวัย รวมไปถึงผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี สามารถเข้ารับบริการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีได้โดยความสมัครใจ ตรวจฟรี ปีละ 2 ครั้ง ได้ที่โรงพยาบาลทุกแห่งที่ให้บริการภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี ควรตรวจหลังจากมีพฤติกรรมเสี่ยงประมาณ 1 เดือน เพื่อให้ผลการตรวจที่แม่นยำ