แพทย์ชี้ 4 สัญญาณเตือน เสี่ยงเป็น “โรคต้อกระจก”
หลายคนไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “การมองเห็น” มีความสำคัญกับชีวิต นอกจากการทำให้เราได้ใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติสุขแล้ว ยังทำให้เราได้เห็นหน้าคนที่เรารัก ได้เห็นโลกกว้าง ได้อ่านหนังสือ ได้เดินทางท่องเที่ยวด้วยตนเองโดยไม่ต้องเป็นภาระกับใคร หลายคนจึงกลัวที่จะสูญเสียการมองเห็น หลายคนกลัวหากต้องอยู่ในโลกมืด ดังนั้น การดูแลสุขภาพ “ดวงตา” ให้ดีอยู่เสมอจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะ“ดวงตา” เป็นอวัยวะที่บอบบาง และหากสูญเสียมันไปแล้วไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้
“โรคต้อกระจก” เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้ตาบอด โดยผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีภาวะเลนส์ตาขุ่น และจะมีอาการหลักคือ ตามัว มองเห็นภาพไม่ชัด สายตาเลือนราง ซึ่งลักษณะการมองเห็นภาพไม่ชัดนั้นมีหลายแบบ แต่ส่วนมากแล้วอาการต่างๆ จะค่อยเป็นค่อยไป ใช้เวลาเป็นเดือนหรืออาจเป็นปี เมื่อมีอาการมากขึ้นจะส่งผลทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ซึ่งในเรื่องนี้ แพทย์หญิงพรรักษ์ ศรีพล แพทย์เฉพาะทางจักษุ ด้านการผ่าตัดต้อกระจก ต้อหิน และจอประสาทตา โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ โรงพยาบาลในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จะมาให้ข้อมูลที่น่าสนใจ วิธีสังเกตอาการ และสัญญาณเตือนของโรคต้อกระจก รวมไปถึงแนวทางการรักษามาฝากกัน
สาเหตุของการเกิดต้อกระจก
สาเหตุของการเกิดต้อกระจกมาจาก อายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะเป็นต้อกระจกได้ง่าย รวมไปถึงผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์ (Steroid) โดยกลุ่มที่มีโอกาสได้รับยา กลุ่มนี้ ได้แก่ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้, โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือโรคเอสแอลอี (SLE) นอกจากนี้ผู้ที่รับประทานยาต้ม ยาหม้อ ยาสมุนไพร ซึ่งอาจมีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์ การได้รับอุบัติเหตุทางตา และการได้รับแสงอัลตราไวโอเลต (UV) เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุของการเกิดต้อกระจกทั้งสิ้น
4 อาการเสี่ยงเข้าข่ายเป็นโรคต้อกระจก
สำหรับ 4 สัญญาณเตือนของโรคต้อกระจก มีดังนี้
- มองเห็นภาพไม่ชัด
- มองเห็นภาพซ้อน
- มองเห็นภาพมัวในที่ๆ มีแสงจ้า
- สายตาเปลี่ยนบ่อย ไปวัดแว่นทีไรไม่ชัดสักที เมื่อมีอาการดังกล่าวข้างต้น อย่านิ่งนอนใจควรรีบพบแพทย์ทันที หรือ แม้จะไม่มีสัญญาณเตือน แต่เราก็ควรที่จะตรวจสุขภาพตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อค้นหาภาวะผิดปกติ
ภาวะแทรกซ้อน อันตรายที่ต้องเฝ้าระวัง
ในผู้ป่วยที่เป็นต้อกระจกมานานจนสุกแล้ว อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน นั่นคือ “ภาวะต้อหินจากต้อกระจกที่บวมเป่ง (Phacomorphic Glaucoma)” เกิดจากเลนส์ตาสุกเต็มที่แล้วบวม จนปิดทางระบายน้ำในลูกตา ทำให้น้ำในลูกตาระบายไม่ได้ ทำให้ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตาเฉียบพลัน ตาแดง เมื่อส่องไฟจะเห็นเลยว่า ตาดำจะขาวผิดปกติ หากปวดในกรณีนี้ไม่มียาที่สามารถระงับอาการปวดได้และถือว่าอันตรายมาก
ผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตา วิธีรักษาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
โรคต้อกระจก มีวิธีการรักษาเพียงวิธีเดียวคือ การผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตา ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการรักษามาตรฐานในปัจจุบันทั่วโลก และวิธีที่นิยมมากที่สุดคือ การทำเฟโกอีมัลซิฟิเคชั่น (Phacoemulcification) ด้วยการใช้เครื่องเสียงความถี่สูงเข้าไปสลายเลนส์ตาเก่าให้มีขนาดเล็กแล้วใส่เลนส์ตาใหม่เข้าไป ทำให้มีแผลผ่าตัดขนาดเล็กมากเพียง 3 มิลลิเมตร ส่วนใหญ่จึงไม่ต้องมีการเย็บปิดแผล นับเป็นวิธีที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย โดยใช้เวลาเฉลี่ยเพียง 10-30 นาทีเท่านั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดและความยากของเคส
ชีวิตใหม่หลังผ่าตัดต้อกระจก
หลังจากได้รับการผ่าตัดต้อกระจกแล้ว ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะรู้สึกเหมือนได้ชีวิตใหม่ เนื่องจากสามารถมองเห็นได้ชัดมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งการผ่าตัดต้อกระจกไม่เพียงแต่ทำให้กลับมามองโลกสดใส แต่ยังเป็นการแก้ไขภาวะสายตาสั้น ยาว เอียง หรือสายตามองใกล้ที่ผิดปกติได้ รวมทั้งช่วยลดความดันตาในผู้ป่วยต้อหินอีกด้วย