สังเกตอาการ "มะเร็งสมองในเด็ก" พบบ่อยรองจากมะเร็งเม็ดเลือดขาว

สังเกตอาการ "มะเร็งสมองในเด็ก" พบบ่อยรองจากมะเร็งเม็ดเลือดขาว

สังเกตอาการ "มะเร็งสมองในเด็ก" พบบ่อยรองจากมะเร็งเม็ดเลือดขาว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ไม่ต้องรอให้โตเป็นผู้ใหญ่ เด็กเองก็สามารถเป็นโรคมะเร็งได้ นอกจากมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่พบได้บ่อยในเด็กแล้ว ยังมี “มะเร็งสมอง” ที่พบบ่อยรองลงมาจากมะเร็งเม็ดเลือดขาวเช่นเดียวกัน


มะเร็งสมองในเด็ก

ผศ.นพ.ปิติ เตชะวิจิตร์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาโลหิตวิทยา และมะเร็งเด็ก ฝ่ายกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า โรคมะเร็งสมองพบได้บ่อยรองลงมาเป็นอันดับสองต่อจากมะเร็งเม็ดเลือดขาว ในประเทศไทยพบเด็กที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งสมองราวปีละ 200 ราย


สาเหตุของมะเร็งสมองในเด็ก

ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดว่ามะเร็งสมองในเด็กเกิดจากอะไร แต่เชื่อว่าสาเหตุการเกิดร่วมกับปัจจัยทางพันธุกรรม และปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม ส่วนสาเหตุที่ทราบได้แน่ชัดว่าสามารถทำให้เกิดมะเร็งสมองได้ คือ

  • การได้รับสารกัมมันตรังสี โดยเฉพาะบริเวณศีรษะ และไขสันหลัง

  • ผู้ป่วยที่มีโรคทางพันธุกรรมบางชนิด เช่น โรคท้าวแสนปม จะมีความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งสมองได้มากกว่าคนทั่วไป


อาการของโรคมะเร็งสมองในเด็ก

ส่วนใหญ่อาการของโรคมะเร็งสมองในเด็กจะมีอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง จนบางครั้งอาการจะคล้ายกับอาการเจ็บป่วยทั่วไปในเด็ก แต่อาการของโรคเนื้องอกในสมอง หรือมะเร็งสมองในเด็กทารก โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี การวินิจฉัยมักทำได้ยาก และล่าช้า เนื่องจากเด็กส่วนใหญ่ไม่สามารถบอกอาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้นได้

อาการที่พอจะสังเกตได้ ได้แก่

  • เด็กมีขนาดของศีรษะโตผิดปกติ ลักษณะของกระหม่อมหน้า หรือกระหม่อมหลังจะโป่งตึง 

  • การเจริญเติบโตทางร่างกายผิดปกติ หรือล่าช้า

  • มีการเคลื่อนไหวผิดปกติ

  • ในบางรายอาจมีอาการร้องกวน

  • อาเจียนเรื้อรัง อาเจียนโดยไม่ทราบสาเหตุ หรืออาเจียนทุกวันโดยเฉพาะในช่วงเช้า

  • หากมีอาการมาก เกิดความดันในกะโหลกศีรษะ อาจมีการเคลื่อนไหวของดวงตา และแขนขาที่ผิดปกติ 

  • ในเด็กอายุมากกว่า 1 ปีที่เริ่มเดินได้ อาจมีพัฒนาการทางร่างกายที่ถดถอยลง เช่น จากที่เดินได้ก็เริ่มเดินไม่ได้ หรือเดินเซ

  • เด็กแสดงอาการทุบศีรษะของตัวเอง แสดงให้เห็นถึงอาการปวดศีรษะ

  • ดื่มน้ำบ่อย ปัสสาวะออกมาก (อาจเสี่ยงภาวะเบาจืด)


อันตรายของโรคมะเร็งสมองในเด็ก

ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจวินิจฉัยล่าช้า เพราะด้วยอาการที่เกิดขึ้นมักเป็นอาการที่สังเกตได้ไม่ชัดเจน หรือมีอาการคล้ายกับการป่วยทั่วไปในเด็ก จึงทำให้กว่าจะได้รับการวินิจฉัยและรับการรักษาอาจจะล่าช้าเกินไป


การวินิจฉัยโรคมะเร็งสมองในเด็ก

เมื่อแพทย์ตรวจเบื้องต้นแล้วมีความสงสัยว่าอาจเสี่ยงโรคมะเร็งสมองในเด็ก แพทย์อาจทำการตรวจผู้ป่วยด้วยรังสีวิทยา เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT Scan) หรือบางรายอาจตรวจด้วยวิธี MRI หลังจากนั้นฝ่ายศัลยกรรมสมองเด็กอาจตัดชิ้นเนื้อในสมองบางส่วนออกมาเพื่อให้ส่วนของพยาธิแพทย์ตรวจสอบชิ้นเนื้อนั้นว่ามีเชื้อมะเร็งหรือไม่ เพื่อวางแผนการรักษาต่อไป


การรักษาโรคมะเร็งสมองในเด็ก

  • ผ่าตัด หากมีการเอาเนื้องอก หรือก้อนเนื้อที่มีปัญหาออกทั้งหมด ก็จะมีอัตราการรอดชีวิตก็จะดีมากกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการผ่าตัด

  • รังสีรักษา ฉายรังสีเพื่อรักษาโรคมะเร็งสมองในเด็ก ซึ่งส่วนใหญ่ค่อนข้างให้ผลตอบรับดี (อาจมีข้อจำกัดในผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 3 ปีที่ไม่สามารถฉายแสงได้)

  • ให้ยาเคมีบำบัด เนื้องอกบางชนิดตอบสนองได้ดีกับยาเคมีบำบัด และรักษาควบคู่ไปกับการผ่าตัด รวมถึงเหมาะสมกับผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 3 ปี

หากสงสัยว่าบุตรหลานจะเป็นโรคมะเร็งสมองในเด็กหรือไม่ สามารถเข้ารับการตรวจร่างกาย และวินิจฉัยจากกุมารแพทย์ใกล้บ้านได้ หรือที่คลินิกโรคเลือดและมะเร็งเด็ก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook