จริงหรือไม่? "คนอ้วน" เสี่ยง "โควิด-19" มากกว่าคนปกติ
กลุ่มเสี่ยง “โควิด-19” มักเป็นผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ แต่คนที่รูปร่างอ้วน หรือมีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน มีความเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 (COVID-19) ด้วยหรือไม่?
จริงหรือไม่? "คนอ้วน" เสี่ยง "โควิด-19" มากกว่าคนปกติ
ผศ.นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า จากรายงานทางการแพทย์เรื่อง การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศอิตาลีที่มีการป่วย และเสียชีวิตเป็นจำนวนมากพบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุ 60-70 ปี และปัจจัยเสี่ยงที่พบมากที่สุด คือ ภาวะอ้วน
จากรายงานทางการแพทย์ของผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวน 1,482 คน ระหว่างวันที่ 1-30 มีนาคม 2563 พบว่ามีปัจจัย หรือโรคประจำตัวที่สัมพันธ์ ได้แก่
- ความดันโลหิตสูง 49.7%
- ภาวะอ้วน (ดัชนีมวลกายมากกว่า 30 กก./ตรม.) 48.3%
- โรคปอดเรื้อรัง 34.6%
- โรคเบาหวาน 28.3%
- โรคหัวใจและหลอดเลือด 27.8%
- โดยผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 18-64 ปี มีภาวะอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงร่วมด้วยถึง 59%
จากรายงานทางการแพทย์ของผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในประเทศจีน จำนวน 214 คน และตรวจพบไขมันพอกตับ 66 ราย พบว่าในรายที่มีดัชนีมวลกายมากกว่า 25 กก./ตรม. สัมพันธ์กับการเพิ่มความรุนแรงของโรคมากถึง 6.3 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่มีดัชนีมวลกายน้อยกว่า
การศึกษาจากนานาประเทศ ทำให้ประชากรไทย โดยเฉพาะวัยทำงานควรตระหนักถึงความสำคัญของความอ้วน (น้ำหนัก > ส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง x 25 หรือดัชนีมวลกายมากกว่า 25 กก./ตรม.) ที่อาจส่งผลต่อการติดเชื้อ และเพิ่มความรุนแรงของโรคโควิด-19 ได้ โดยเฉพาะในรายที่มีไขมันพอกตับร่วมด้วย