เคล็บลับ “จำ” แม่น สำหรับวัยเรียน วัยทำงาน และผู้สูงวัย
ไม่ว่าคุณจะอยู่ในวัยไหน ใครๆ ก็คงอยากมีความจำที่ดี ไม่ลืมง่ายๆ เพราะหากเราความจำดี จะมีประโยชน์ในการดำเนินชีวิตให้ดีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการเรียน การทำงาน การใช้ชีวิตประจำวัน หรือเป็นความทรงจำยามแก่เฒ่า แต่หลายครั้งเราก็ลืมเรื่องง่ายๆ เพียงในระยะเวลาสั้นๆ แม้ว่าเราจะไม่ได้อายุเยอะ หรือไม่ได้มีปัญหากับสมองแต่อย่างใด
ประเภทของความจำ/การลืม
พญ. ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล หรือคุณหมอผิง แพทย์วุฒิบัตรเวชศาสตร์ชะลอวัย (สหรัฐอเมริกา) ระบุว่า การลืมมีหลายรูปแบบ
▪︎Transience เจอบ่อยเวลาเรียนหรือฟังอะไรมา สักพักก็ลืม โดยมากเป็นความจำใหม่ๆ ที่เพิ่มเข้ามา แต่ไม่ได้ถูกใช้งาน สมองจึงมีแนวโน้มว่าจะลบทิ้งไป
เช่น เรียนหนังสือจบแล้วไม่ได้ใช้ความรู้เหล่านั้น ก็ลืมไปหมดว่าเรียนอะไรมา หรือครูสอนอะไรมา
วิธีแก้ไข คือ พยายามนำความรู้ที่เพิ่งเรียนมานำไปใช้ทันที หรือใช้บ่อยๆ เช่น เรียนภาษามา ก็นำไปใช้พูด เขียน แต่งประโยคต่างๆ และอ่านออกเสียงอยู่บ่อยๆ เป็นต้น
▪︎ Absentmindedness หลงๆ ลืมๆ เพราะไม่ตั้งใจจะจำ ไม่มีสมาธิ หรือทำอะไรหลายอย่างพร้อมกัน โยเป็นการลืมเพราะใจลอยในขณะที่เกิดเหตุการณ์ หรือกำลังรับข้อมูลบางอย่าง แต่ไม่ได้มีสมาธิตั้งใจ หรือใจจดใจจ่ออยู่กับช่วงเวลานั้นๆ
เช่น ลืมว่าวางของเอาไว้ตรงไหน ลืมว่าทำบางสิ่งบางอย่างลงไปหรือยัง
วิธีแก้ไข คือ ลดการทำอะไรหลายๆ อย่างพร้อมกัน และฝึกการทำสมาธิให้มากขึ้น เพื่อให้สมองจดจ่ออยู่กับสิ่งที่กำลังทำอยู่ ไม่วอกแว่ก
▪︎ Blocking ลืมแบบเคยจำได้ อยู่ๆ ก็นึกไม่ออก สมองไม่สามารถดึงข้อมูลที่เก็บอยู่ออกมาใช้ได้ทันที อาจเกิดขึ้นได้เมื่ออายุมากขึ้น หรือมีอาการเครียด นอนไม่พอ
เช่น ลืมข้อมูลที่เคยรู้มาก่อน และอยู่ๆ ก็นึกไม่ออก
วิธีแก้ไข คือ นอนหลับให้เพียงพอ จัดการกับความเครียดที่มากเกินไป เลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยานอนหลับ เป็นต้น
▪︎ Misattribution เป็นอาการหลงลืมเรื่องราวในความทรงจำ ที่จำได้บางส่วน และลืมไปบางส่วน และอาจมีบางส่วนที่ลืมและถูกแต่งเติมโดยไม่ได้ตั้งใจ
เช่น จำได้ว่านั่งรถกลับบ้านแล้วฝนตก แต่จริงๆ แล้วฝนไม่ได้ตก แต่บรรยากาศฝนตกอาจมาจากละครที่ดูหลังจากนั่งรถกลับบ้าน เป็นต้น
วิธีแก้ไข คือ พยายามลดจำเหตุการณ์สำคัญๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น และอาจจดบันทึกเอาไว้กันพลาด
▪︎ Persistence เป็นความจำที่ในบางเรื่องที่อยากลืม เซลล์สมองกลับจำซะแม่น อาจเป็นความทรงจำอันเลวร้ายที่ส่งผลต่อจิตใจได้ แม้ว่าจริงๆ แล้วเราอยากจะลืมก็ตาม
เช่น รายละเอียด เหตุการณ์ ช่วงเวลาที่สูญเสียคนที่รัก
วิธีแก้ไข คือ สร้างความทรงจำใหม่ๆ ที่ดีทดแทน แต่หากยังเกิดปัญหานี้ซ้ำๆ หรือความจำเหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ ควรปรึกษาจิตแพทย์
เคล็บลับ “จำ” แม่น
วัยเรียน - หลังจากเรียนจบในแต่ละวัน ทบทวนบทเรียนที่เรียนภายในวันนั้น อ่าน จดโน้ตตามที่เข้าใจในสมุด และนำความรู้ที่ได้มาใช้ในชีวิตบ่อยๆ
วัยทำงาน - ทบทวน และวางแผนการทำงานให้ดี ไม่ทำอะไรหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ถ้ากลัวจำไม่ได้หรือสับสน ให้จดโน้ตเอาไว้ เลือกจำในส่วนที่สำคัญ ลดการดื่มแอลกอฮอล์ ลดความเครียด และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
ผู้สูงวัย - ฝึกสมองด้วยการพูดคุย เขียน พูด หากิจกรรมนำไม่อยู่เฉยเนือยนิ่ง หากมีอาการหลงลืมหนักๆ ควรปรึกษาแพทย์