โรค "มือ เท้า ปาก" โรคติดต่อในเด็กที่พบได้หลังเปิดเทอม

โรค "มือ เท้า ปาก" โรคติดต่อในเด็กที่พบได้หลังเปิดเทอม

โรค "มือ เท้า ปาก" โรคติดต่อในเด็กที่พบได้หลังเปิดเทอม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แนะผู้ปกครองและสถานศึกษา ระวังเด็กป่วยโรคมือ เท้า ปาก ในช่วงเปิดเทอมนี้ โดยเฉพาะเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เน้นคัดกรองและสังเกตอาการของเด็กก่อนเข้าเรียน หากพบเด็กป่วยให้แยกออกจากเด็กปกติและแจ้งให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน ให้หยุดเรียนและพาไปพบแพทย์โดยเร็ว


โรค "มือ เท้า ปาก" โรคติดต่อในเด็กที่พบได้หลังเปิดเทอม

นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การเปิดภาคเรียน ซึ่งสถานศึกษาอาจมีกิจกรรมรวมกันเป็นกลุ่มที่มีโอกาสใกล้ชิดกันมาก ประกอบกับในช่วงนี้เป็นฤดูฝน สภาพอากาศที่เย็นและชื้น ทำให้มีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ง่าย โดยสิ่งที่ผู้ปกครองและครูควรระมัดระวังไม่ให้เด็กป่วย นอกจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) แล้ว ยังมีโรคมือ เท้า ปาก ที่ผู้ปกครองและครูควรต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งมีแนวโน้มพบอัตราป่วยมากที่สุด กรมควบคุมโรค จึงขอให้ผู้ปกครองและครูดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด คัดกรองและสังเกตอาการของเด็กก่อนเข้าเรียน เพื่อเฝ้าระวังการป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก และโรคโควิด 19 ด้วย

สถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-23 มิถุนายน 2563 พบผู้ป่วย 6,202 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต โดยพบมากที่สุดในช่วงอายุเด็กแรกเกิด-4 ปี รองลงมาคืออายุ 5 ปี และอายุ 7-9 ปี ตามลำดับ 


การติดต่อของโรคมือ เท้า ปาก

โรคมือ เท้า ปากจะพบมากในกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำ สามารถติดต่อจากการได้รับเชื้อไวรัสเข้าทางปากโดยตรง โดยเชื้อไวรัสจะติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือติดต่อจากการไอ จาม รดกัน 


อาการของโรคมือ เท้า ปาก

หากผู้ป่วยได้รับเชื้อจะมีอาการเล็กน้อย เช่น 

  • มีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย 

  • ต่อมา 1-2 วัน จะมีอาการเจ็บปาก ร่วมกับมีตุ่มพองเล็กๆ บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า 

  • มีตุ่มแผลในปาก ที่เพดานอ่อน กระพุ้งแก้ม ลิ้น ต่อมาจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ 

หากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีไข้ขึ้นสูง ซึมลง เดินเซ ชักเกร็ง หายใจหอบเหนื่อย อาเจียนมาก ต้องรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพราะอาจเป็นเชื้อชนิดรุนแรง และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้


วิธีป้องกันโรคมือ เท้า ปาก

ผู้ปกครอง และครู อาจารย์ ต้องคอยสอดส่องอาการของเด็กว่ามีความเสี่ยงจะเป็นโรคนี้หรือไม่ หากมีไข้ เป็นหวัด ควรให้หยุดเรียน รักษาจนหายค่อยให้กลับไปเรียนต่อ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสสู่เด็กคนอื่น และหมั่นรักษาความสะอาดให้เด็ก โดยเฉพาะมือ ควรล้างบ่อยๆ หรือให้เด็กล้างมือก่อนหยิบจับอาหารเข้าปาก เป็นต้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook