รู้จัก "กาฬโรคต่อมน้ำเหลือง" ติดต่อผ่าน "หมัด" และ “เนื้อสัตว์ดิบ”

รู้จัก "กาฬโรคต่อมน้ำเหลือง" ติดต่อผ่าน "หมัด" และ “เนื้อสัตว์ดิบ”

รู้จัก "กาฬโรคต่อมน้ำเหลือง" ติดต่อผ่าน "หมัด" และ “เนื้อสัตว์ดิบ”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังจากทางการท้องถิ่นจีนประกาศยกระดับเตือนภัย "กาฬโรค" เป็นระดับ 3 หลังพบผู้ป่วยติดเชื้อกาฬโรคต่อมน้ำเหลือง ในเขตปกครองตนเองมองโกเลียในทางตอนเหนือของจีน คนไทยบางส่วนอาจมีความสงสัย และกังวลว่ากาฬโรคนี้เป็นอย่างไร อันตรายแค่ไหน และมีสิทธิ์ระบาดมาถึงไทยหรือไม่

สำนักข่าว New York Times รายงานว่า กาฬโรคที่พบว่ามีการระบาดอยู่ที่จีน เป็น “กาฬโรคต่อมน้ำเหลือง” (Bubonic Plague) เรามาทำความรู้จักกาฬโรคชนิดนี้กันให้มากขึ้นกันดีกว่า


"กาฬโรคต่อมน้ำเหลือง" คืออะไร?

หน่วยปฏิบัติการวิจัยโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำในสัตว์ คณะสัตวแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า กาฬโรคเป็นโรคระบาดร้ายแรงที่เกิดจากแบคทีเรีย Yersinia pestis  สัตว์หลายชนิดรวมทั้งคนสามารถติดเชื้อนี้ได้ โดยอาจเกิดอาการได้หลายลักษณะ เช่น ต่อมน้ำเหลืองโต ความผิดปกติในระบบหายใจ และถึงตายได้

กาฬโรคต่อมน้ำเหลือง (Bubonic Plague) เป็นชนิดย่อยชนิดหนึ่งของกาฬโรค ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการคล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่เมื่อเวลาผ่านไป 1-7 วันหลังได้รับเชื้อ โดยจะมีไข้ ปวดศีรษะ และอาเจียน ต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียงกับจุดที่รับเชื้อโรคผ่านผิวหนังจะบวมโตและมีอาการเจ็บ บางครั้งต่อมน้ำเหลืองเหล่านี้อาจแตกออกเป็นแผลได้

 
กาฬโรค โรคโบราณที่ไม่เคยหายไปไหน

หลายคนอาจสงสัยว่า โรคกาฬโรคน่าจะหายสาบสูญไปนานหลายปีแล้ว เพราะไม่ค่อยเห็นใครเป็นกันสักเท่าไร แต่อันที่จริงแล้วยังพบการระบาดของกาฬโรคอยู่เรื่อยๆ ทางตะวันตกของอเมริกา และบางแห่งทั่วโลก แต่เนื่องจากเทคโนโลยีทางการแพทย์สามารถผลิตยาที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ จึงทำให้พบการระบาดของโรคน้อยลงกว่าแต่ก่อนมาก

 
สาเหตุของกาฬโรคต่อมน้ำเหลือง

ปกติแล้วกาฬโรคมักมีพาหะมาจากสัตว์ สำหรับกาฬโรคต่อมน้ำเหลืองอาจมีสัตว์ที่ต้องสงสัยในการเป็นตัวแพร่ระบาดของเชื้อแบคทีเรีย คือ 

  • หมัด ที่กัดสัตว์ที่มีเชื้อแบคทีเรีย
  • สัตว์ที่ติดเชื้อ เช่น หนู และอื่นๆ (ที่จีนล่าสุดพบว่าเป็นตัวมาร์มอต หรือกระรอกใหญ่)

มนุษย์ติดเชื้อแบคทีเรียจากการโดนหมัดที่กัดสัตว์ที่ติดเชื้อ แล้วมากัดคนอีกที หรือคนไปสัมผัสกับสัตว์ที่ติดเชื้อ และยังรวมถึงมนุษย์ที่บริโภคเนื้อสัตว์ที่ติดเชื้อแบบดิบๆ ด้วย


อาการของกาฬโรคต่อมน้ำเหลือง

  • มีไข้ (คล้ายไข้หวัดใหญ่) หลังรับเชื้อ 1-7 วัน หนาวสั่น
  • ปวดศีรษะ
  • อ่อนเพลีย
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ต่อมน้ำเหลืองตรงจุดที่ใกล้กับชุดที่ได้รับเชื้อ (เช่น บริเวณที่ถูกหมัดกัด คอ รักแร้ หรือขาหนีบ) มีขนาดบวมโตขึ้น มีอาการเจ็บ และอาจแตกเป็นแผลได้


กาฬโรคต่อมน้ำเหลือง อันตรายแค่ไหน?

กาฬโรคต่อมน้ำเหลืองมีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย ไม่ใช่เชื้อไวรัส จึงสามารถให้การรักษาได้ง่ายในทันทีด้วยยาปฏิชีวนะ และสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้หากพบได้เร็ว นอกจากนี้องค์การอนามัยโรคยังยืนยันว่าการแพร่ระบาดของโรคนี้ยังไม่อยู่ในขั้นน่าเป็นห่วง ทางการจีนสามารถควบคุมได้ แต่ขอให้ทุกคนหลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์ดิบ และระวังอย่าให้เห็บหมัดกัดต่อย 

ทั้งนี้ หากสงสัยว่าตัวเองอาจโดนเห็บหมัดกัดต่อย หรือมีไข้หลังรับประทานเนื้อสัตว์ดิบ 1-7 วัน ควรรีบพบแพทย์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook