ภาวะ “โลหิตจาง” ปัญหาสุขภาพที่ควรพบแพทย์เพื่อรักษาอย่างถูกต้อง
กรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลราชวิถี เผยภาวะโลหิตจางพบได้บ่อยในประชากรทั่วไป เกิดจากหลายสาเหตุ หากเป็นมากจะพบอาการอ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ ใจสั่น หน้ามืด เป็นลมง่าย อาจมีหัวใจโต เกิดภาวะหัวใจวายได้ ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
ภาวะโลหิตจาง เป็นมากอันตรายต่อร่างกาย
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ภาวะโลหิตจาง พบได้บ่อยในประชากรทั่วไป เป็นภาวะร่างกายมีเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติหรือพบว่าปริมาณเม็ดเลือดแดงในเลือดน้อยกว่าปกติ ทำให้ความสามารถในการนำออกซิเจนไปสู่อวัยวะต่างๆ ของร่างกายมีประสิทธิภาพลดลง อาการของโลหิตจางเริ่มตั้งแต่ไม่มีอาการ
ถ้าโลหิตจางน้อยๆ จะไม่มีผลต่อสุขภาพ ถ้าบังเอิญเกิดเหตุที่ทำให้เสียเลือดกระทันหัน เช่น อุบัติเหตุรถชนหรือมีการตกเลือดจากเหตุทางโรคภัย เช่น แท้งลูก ท้องนอกมดลูกจะทนทานการเสียเลือดได้ไม่ดี แต่ถ้าโลหิตจางมากมีผลต่อร่างกาย คือ ทำให้อ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ ใจสั่น หน้ามืด เป็นลมง่าย เพราะถ้ามีโลหิตจางมากๆ หัวใจต้องทำงานมากขึ้น เพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี่ยงร่างกายให้มากขึ้น อาจมีหัวใจโต เกิดภาวะหัวใจวายได้
สาเหตุของภาวะโลหิตจาง
สาเหตุของภาวะโลหิตจางเกิดได้หลายปัจจัย ซึ่งสาเหตุที่พบได้บ่อยมาจากการขาดสารอาหาร เช่น
- ขาดธาตุเหล็กหรือโลหิตจางที่ได้รับการถ่ายทอดทางพันธุ์กรรม เช่น โรคธาลัสซีเมีย
- อาจเกิดจากการที่มีการสูญเสียเลือดเรื้อรัง บางครั้งมีเลือดออกจากทางเดินอาหาร เช่น ถ่ายอุจจาระมีเลือดปนหรือถ่ายดำ โรคที่ทำให้ถ่ายมีเลือดปนที่พบบ่อย ได้แก่ โรคกระเพาะอาหาร โรคริดสีดวงทวาร โรคหลอดเลือดโป่งพอง โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น
- การรับประทานยาแก้ปวดแก้เมื่อยเป็นประจำแล้วยาระคายกระเพาะอาหารทำให้อักเสบมีแผล เกิดเลือดออกได้
- การเสียเลือดจากมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ถ้าถึงวัยหมดประจำเดือนแล้วมีเลือดออกทางช่องคลอด ต้องรีบไปตรวจทันทีเนื่องจากอาจเกิดจากโรคมะเร็งได้
- เกิดจากโรคเรื้อรัง เช่น ไตวาย โรคตับ ข้ออักเสบ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคไขกระดูกเสื่อม เป็นต้น
วิธีรักษาโรคโลหิตจาง
หลักการสำคัญในการรักษาโลหิตจาง คือรักษาที่สาเหตุของโลหิตจางให้พบโดยควรได้รับการตรวจวินิจฉัยโรคก่อน เพื่อให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสมตามสาเหตุของโรคที่แท้จริง
วิธีป้องกันภาวะโลหิตจาง
นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า การป้องกันภาวะโลหิตจาง ได้แก่
- การรับประทานอาหารครบทั้ง 5 หมู่ โดยเฉพาะโปรตีนและอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ได้แก่ ไข่ ตับ ไต เนื้อสัตว์ เมล็ดธัญพืช เช่น ถั่ว งา เมล็ดฟักทอง ลูกเดือย เป็นต้น
- ละเว้นการรับประทานอาหารที่ขัดขวางการดูดซึมของธาตุเหล็ก เช่น ชา กาแฟ โอเลี้ยง เป็นต้น
- ไม่ควรรับประทานยาชุด แก้ปวดเมื่อย แก้อักเสบ ยาหม้อ ยาลูกกลอน เนื่องจากจะทำให้เกิดการระคายกระเพาะอาหาร ส่งผลให้มีอาการปวดเสียดท้อง ท้องอืด เลือดออกในกระเพาะอาหารหรือกระเพาะอาหารทะลุได้
- หากมีอาการปวดเสียดแน่นท้อง ขับถ่ายอุจจาระผิดปกติไปจากเดิม ถ่ายดำหรือมีเลือดปน เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาออกเรื้อรัง จ้ำเลือดออกตามตัว ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป