"น้ำร้อนลวก" ใช้ "ยาสีฟัน" ช่วยรักษาแผลได้ จริงหรือ?
ความซุกซนของเด็กๆ หรือแม้แต่ความเลินเล่อของผู้ใหญ่ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุใกล้ตัวที่ไม่คาดคิดจาก “น้ำร้อนลวก” ได้ แต่เด็กอาจจะมีอันตรายมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากพื้นที่บนร่างกายมีน้อยกว่าบริเวณที่ถูกน้ำร้อนลวกจึงกินพื้นที่กว้างกว่า และอาจไปถูกอวัยวะสำคัญต่างๆ ได้
เมื่อถูกน้ำร้อนลวกใช้ “ยาสีฟัน” บรรเทาได้หรือไม่?
การใช้ยาสีฟันทาบริเวณที่เป็นแผลน้ำร้อนลวก เพราะมีความเชื่อต่อๆ กันมาว่าแผลน้ำร้อนลวกห้ามถูกน้ำถือเป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง นอกจากยาสีฟันจะไม่ได้ช่วยบรรเทาความเจ็บปวด หรือทำให้แผลหายได้เร็วขึ้นแล้ว ก็ยังเสี่ยงต่อแผลติดเชื้อ และชำระล้างออกได้ยากด้วย ทำให้เสี่ยงต่อการทำลายเนื้อเยื่อของผิวหนังและอาจทำให้แผลเปิดยิ่งกว่าเดิม
ปฐมพยาบาลด้วย “น้ำสะอาด-น้ำเกลือ”
เมื่อเกิดแผลน้ำร้อนลวก สิ่งแรกที่ควรทำทันทีเพื่อทำให้อาการปวดแสบปวดร้อนทุเลาลง คือการล้างแผลด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำเกลือ และใช้ผ้าชุบน้ำเย็นประคบที่บาดแผลประมาณ 15-20 นาที จากนั้นซับแผลให้แห้ง และปิดด้วยผ้าสะอาด เพื่อไม่ให้เกิดแผลพุพอง และแผลติดเชื้อ
“ว่านหางจระเข้” ใช้ได้หรือไม่?
หากเกิดแผลน้ำร้อนลวกในระดับความร้อนที่ยังไม่ทำลายถึงชั้นผิวหนังแท้ สามารถนำว่านหางจระเข้มาใช้เพื่อลดอาการปวดแสบของแผลได้ แต่ต้องระมัดระวังในการนำมาใช้ เพราะอาจทำให้แผลติดเชื้อได้ และต้องใช้หลังการล้างแผลให้สะอาดแล้วเท่านั้น
“ถุงน้ำพุพอง” ห้ามเจาะเป็นอันขาด!
กรณีแผลมีถุงน้ำพุพอง อย่าเจาะหรือตัดถุงน้ำ เพราะจะทำให้บาดแผลเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ หากสังเกตว่าผิวหนังมีรอยถลอก มีตุ่มพองใส หรือมีสีของผิวหนังที่เปลี่ยนไป ควรรีบพบแพทย์ทันที และหากเกิดกับเด็กเล็ก หรือผู้สูงอายุ แม้แผลน้ำร้อนลวกไม่ได้กินบริเวณมาก แต่อาจมีอันตรายมากกว่าที่พบในคนหนุ่มสาว จึงควรนำตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล