ตรวจ DNA จาก “เส้นผม” อย่างในละคร ทำได้จริงหรือไม่?
จากประสบการณ์การดูละคร คุณเคยเห็นการตรวจ DNA เพื่อพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางสายเลือดของตัวละครไหม? ส่วนใหญ่การตรวจหา DNA ของตัวละครในละครจะใช้ “เส้นผม” ในการตรวจ แต่อยากรู้หรือไม่ว่าจริงๆ แล้ว “เส้นผม” สามารถนำมาตรวจหา DNA ได้หรือไม่? ซึ่งก่อนอื่น เราต้องมารู้จัก DNA กันก่อน
DNA คืออะไร?
DNA มีชื่อเต็มว่า กรดดีออกซีไรโบนิวคลีอิก (deoxyribonucleic acid) เป็นกรดนิวคลีอิก (nucleic acid) ชนิดหนึ่ง ที่มีสารพันธุกรรมที่เป็นส่วนประกอบของสิ่งมีชีวิต โดยมีหน้าที่เก็บข้อมูลทางพันธุกรรม และถ่ายทอดรหัสพันธุกรรม (ส่วนของ DNA ที่บรรจุข้อมูลพันธุกรรม คือ ยีน : gene) ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างมากในการกำหนดลักษณะต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิต
DNA จึงทำให้สิ่งมีชีวิตสามารถสืบทอดลักษณะของบรรพบุรุษ และดำรงเผ่าพันธุ์จากรุ่นสู่รุ่น DNA จะมีลักษณะเป็นเกลียวคู่ที่บิดตัวคล้ายบันไดเวียนอยู่ในโครโมโซม (chromosome) และไมโทคอนเดรีย (mitochondrion) ของมนุษย์
มนุษย์เราทุกคนจะมีเส้นสาย DNA อยู่ 2 ส่วน ส่วนแรกเป็น DNA ภายในเซลล์ที่มีการจัดระเบียบเป็นโครงสร้างยาว ที่เรียกว่าโครโมโซม มนุษย์จะได้รับการถ่ายทอด DNA ส่วนนี้มาจากพ่อครึ่งหนึ่งและแม่อีกครึ่งหนึ่ง ส่วนที่สองจะอยู่ในไมโทคอนเดรีย ส่วนนี้จะได้รับถ่ายทอดมาจากแม่ทั้งหมด (ในส่วนนี้สามารถสืบสาแหรกความเกี่ยวข้องทางสายเลือดกับญาติทางฝั่งแม่ได้)
ภายใน DNA มีส่วนประกอบที่เรียกว่า นิวคลีโอไทด์ (nucleotide) การเรียงลำดับนิวคลีโอไทด์จะเรียงตัวไม่เหมือนกัน นั่นทำให้ DNA มีลักษณะคล้ายกับลายนิ้วมือของเรา คือมีลักษณะเฉพาะตัว โอกาสที่การเรียงตัวของนิวคลีโอไทด์จะเหมือนกัน เรียกได้ว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นการตรวจรหัส DNA จะมีความแม่นยำมาก เพราะโอกาสที่มนุษย์เราจะมีลักษณะเหมือนกัน ตรงกันไปหมดทุกตำแหน่งนั้นแทบจะไม่มีเลย
เมื่อมนุษย์ทุกคนต่างมี DNA ของใครของมัน DNA จึงสามารถนำมาใช้ในการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล และพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางสายเลือดได้ อย่างเช่น การพบศพนิรนามที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าผู้ตายเป็นใคร ทางนิติเวชจะนำตัวพ่อแม่ที่ลูกสูญหาย แล้วสงสัยว่านี่คือศพลูกของตัวเองมาเก็บ DNA เพื่อไปเปรียบเทียบกับ DNA ที่ได้จากศพหาก DNA ตรงกัน ก็จะระบุตัวตนของศพได้
ส่วนที่เรามักจะเห็นกันในละคร คือ การตรวจ DNA เพื่อหาความสัมพันธ์ทางสายเลือด หากเป็นการตรวจพิสูจน์แบบจูงมือกันไปตรวจก็ไม่มีปัญหา แต่ปัญหากลับอยู่ที่ “การเก็บเส้นผม” ที่หลุดร่วงตามพื้น หรือเส้นผมที่ติดอยู่ที่หวี ไปตรวจต่างหาก ซึ่งในความเป็นจริงนั้น เราสามารถตรวจ DNA จากเส้นผมได้หรือไม่?
เราสามารถตรวจ DNA จากเส้นผมได้หรือไม่?
คำตอบคือ เราสามารถตรวจ DNA จากเส้นผมได้จริง แต่…เส้นผมที่นำไปตรวจจะต้องมี “เซลล์” ซึ่งเป็นส่วนประกอบในร่างกายมนุษย์ติดมาด้วยเท่านั้น ซึ่งเป็นไปได้น้อยมากที่เส้นผมที่หลุดร่วงอยู่ตามพื้น หรือเส้นผมที่ติดอยู่กับหวีจะมีส่วนของเซลล์ ซึ่งก็คือ “รากผม : hair root” (ตุ่มขาวขุ่นที่ติดมากับเส้นผม หากเราดึงผมออกมาด้วยความระมัดระวัง) ติดอยู่ รวมถึงเส้นผมที่ใช้กรรไกรตัดมา (ไม่มีรากผมแน่ ๆ) ก็ไม่สามารถนำมาใช้ตรวจ DNA ได้
นอกจากนี้ การตรวจ DNA จากรากผมก็ยังมีเงื่อนไขอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น เรื่องของสภาพแวดล้อม หากเส้นผมที่ติดรากผมมานั้น ถูกเก็บอยู่ในอุณหภูมิที่ต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง (อุณหภูมิหนาวเย็นแบบติดลบ) แห้ง ไม่สัมผัสกับอากาศ ไม่สัมผัสความชื้น ไม่สัมผัสความร้อนหรือแสงแดด DNA ที่รากผมจะเก็บได้ยาวนานมาก อาจอยู่ได้นานหลายปี
แต่ในสภาพแวดล้อมอุณหภูมิปกติ รากผมสัมผัสกับอากาศ มีทั้งความร้อน ความชื้น แสงแดด DNA ก็จะมีอายุสั้นลง ฉะนั้นแล้ว ต่อให้เป็นเส้นผมที่มีรากผมติดมา แต่ระยะเวลาในการเก็บผ่านมานานโดยที่ไม่ได้เก็บไว้ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ก็ตรวจ DNA จากเส้นผมไม่ได้เช่นกัน
ทำไมเส้นผมปกติตรวจหา DNA ไม่ได้
ดังนั้นแล้ว สงสัยไหมว่าทำไมเส้นผม (ซึ่งเป็นส่วนประกอบหนึ่งในร่างกาย) จึงไม่สามารถนำมาใช้ตรวจหา DNA ได้
นั่นเป็นเพราะเส้นผมที่เจริญเติบโต แล้วงอกออกมาพ้นหนังศีรษะ จนปกคลุมไปทั่วศีรษะ เป็นเซลล์ส่วนที่ตายแล้ว เซลล์ผมนั้นไม่มีชีวิต ไม่มีความรู้สึก ส่วนที่ผมเรายังยาวได้อยู่เรื่อยๆ เพราะเซลล์ผมจะค่อยๆ เติบโตขึ้นจากรากผมจากโคนผม (ส่วนที่ติดอยู่ที่หนังศีรษะ) ไม่ได้ยาวขึ้นจากส่วนปลายผมดังที่หลายคนยังเข้าใจผิด
หากยังไม่เห็นภาพ ให้นึกถึงคนที่ทำสีผม ส่วนที่ยาวออกมาคือส่วนโคนผม (เพราะโคนผมที่ยาวออกมาจะเป็นสีผมตามธรรมชาติ) ส่วนผมส่วนที่ทำสี จะค่อยๆ ขยับลงมาที่ส่วนปลายผม หากเราตัดทิ้ง สีก็จะหมดไปนั่นเอง
จึงสรุปได้ว่า “เส้นผม” สามารถนำมาใช้ตรวจ DNA ได้ ด้วยเงื่อนไข คือ ต้องมีรากผม มีจำนวนมากพอ ถูกเก็บรักษาในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และไม่ควรมีการปนเปื้อนจากการสัมผัส
ดังนั้นแล้ว เส้นผม ไม่ใช่แหล่ง DNA ที่ดีที่สุด หากต้องการความแม่นยำ เราจะตรวจสอบ DNA จากเยื่อบุกระพุ้งแก้ม หรือเลือด หรือสารคัดหลั่งของมนุษย์ ส่วนการตรวจสอบ DNA จากศพ จะสามารถใช้เศษชิ้นส่วน เศษเนื้อเยื่อ โครงกระดูก เศษชิ้นส่วนกระดูก จากศพได้