7 ประโยชน์สำคัญของ “สารต้านอนุมูลอิสระ”
เราอาจเคยได้ยินว่ามีอาหารที่มี “สารต้านอนุมูลอิสระ” สูง แปลว่าดีต่อร่างกาย ให้กินเยอะๆ แต่หลายคนอาจไม่เข้าใจว่า “อนุมูลอิสระ” คืออะไร แล้ว “สารต้านอนุมูลอิสระ” ดีต่อร่างกายอย่างไร Sanook Health รวบรวมข้อมูลมาผากกัน
อนุมูลอิสระ คืออะไร?
อนุมูลอิสระ (Free Radicals) หมายถึงโมเลกุล หรืออะตอมที่ไม่เสถียรเนื่องจากการขาด อิเล็กตรอน ที่อยู่รอบนอกสุดของอะตอม อนุมูลอิสระนี้มีช่วงอายุสั้นเพียงแค่ไม่กี่เสี้ยววินาที แต่สามารถสร้างความเสียหายต่อ DNA ด้วยการแย่งจับอิเล็กตรอนของเซลล์อื่นในร่างกาย ที่เรียกว่าภาวะเครียดที่เกิดจากออกซิเดชัน (oxidative stress) ทำให้โมเลกุลของร่างกายไม่เสถียร เกิดความเสียหาย นำไปสู่การเกิดโรคและริ้วรอยบนร่างกาย และอาจเกิดการกลายพันธุ์จนกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ในภายหลัง เราจึงมักจะต้องการสารต้านอนุมูลอิสระ ที่จะช่วยทำให้โมเลกุลที่ไม่เสถียรนี้มีความเป็นกลาง และช่วยปกป้องร่างกายจากการเสื่อมโทรมของเซลล์เหล่านี้
อนุมูลอิสระมาจากไหนบ้าง?
- มลภาวะทางอากาศ
- การสูบบุหรี่
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- อาหารทอด
- การอักเสบ
- การฉายรังสี
- ยาและสารเคมีบางชนิด
- ไวรัสบางชนิด
สารต้านอนุมูลอิสระ คืออะไร?
สารต้านอนุมูลอิสระ คือ สารประกอบที่สามารถป้องกันหรือชะลอการเกิดกระบวนการออกซิเดชั่น โดยกระบวนการออกซิเดชั่นมีได้หลายรูปแบบ เช่น ทำให้เหล็กกลายเป็นสนิม หรือแอปเปิ้ลเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล
สารต้านอนุมูลอิสระ สำคัญต่อร่างกายอย่างไร?
มีงานวิจัยมากมายบ่งชี้ว่า สารต้านอนุมูลอิสระสามารถลดความเสี่ยงต่อโรคหลายโรคโดยเฉพาะโรคเรื้อรังที่สัมพันธ์กับอาหาร เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคสมองได้ แล้วยังช่วยชะลอกระบวนการบางขั้นตอนที่ทำให้เกิดความแก่โดยปกติร่างกายสามารถกำจัดอนุมูลอิสระก่อนที่มันจะทำอันตรายได้
7 ประโยชน์สำคัญของ “สารต้านอนุมูลอิสระ”
- ชะลอวัย ชะลอกระบวนการที่ทำให้เข้าสู่วัยชรา (แก่ช้า)
- ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็ง
- ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคอัลไซเมอร์ หรือภาวะสมองเสื่อม
- ลดระดับคอเลสเตอรอลที่ไม่ดีในร่างกาย
- ป้องกัน และลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด
- ป้องกันโรคเส้นเลือดในสมองตีบ
- เป็นเกราะในการป้องกันมลพิษต่างๆ จากสิ่งแวดล้อม
วิธีที่ทำให้ร่างกายมีสารต้านอนุมูลอิสระเยอะๆ
- รับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ผักและผลไม้รสเปรี้ยว สีเหลืองส้ม มีวิตามินเอ ซี และไลโคปีน (มะนาว ฝรั่ง มะเขือเทศ แคร์รอต มะละกอ แตงโม ปลา ตับ ไข่แดง ฯลฯ)
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- งดสูบบุหรี่
- งดดื่มแอลกอฮอล์
- ลดการรับประทานอาหารทอด