อาการ "ตาแห้ง" อันตรายของวัยทำงาน
อวัยวะที่สำคัญมากแต่คนมักละเลย คือ “ดวงตา” เมื่อเรายังมีการบำรุงผิวพรรณด้วยการทาโลชั่น หรือทำความสะอาดร่างกาย รวมถึงการรับประทานอาหารเพื่อบำรุงอวัยวะส่วนอื่นๆ แต่ดวงตามักถูกมองข้าม และไม่ได้รับการใส่ใจเท่าที่ควร กว่าจะหันมาดูแลกันก็ต่อเมื่อเป็นโรค หรือมีอาการที่ทำให้บาดเจ็บ หรือส่งผลต่อการมองเห็นไปแล้ว
อาการ “ตาแห้ง” ก็เป็นอาการที่มักถูกเพิกเฉยเช่นเดียวกัน แม้ว่าจะดูเหมือนเป็นอาการเล็กๆ น้อยๆ แต่หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ดูแล หรือแก้อาการนี้ อาจส่งผลต่อสุขภาพตา และการมองเห็นในระยะยาวได้
อาการ “ตาแห้ง” เป็นอย่างไร? แบบไหนถึงเรียกว่าตาแห้ง?
อ.พญ.ภัศรา จงขจรพงษ์ สาขาวิชากระจกตาและการผ่าตัดแก้ไขสายตา ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า โรคตาแห้ง มีอาการแสดงคือระคายเคืองตาเหมือนมีเศษผงอยู่ในดวงตา รู้สึกแสบตาง่ายโดยเฉพาะเมื่อมีลมพัดเข้าสู่ดวงตา หรือเมื่ออยู่ในห้องแอร์จะรู้สึกได้ว่าดวงตาแห้งและรู้สึกดีเมื่อกระพริบตา หรือการอ่านหนังสือ การทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ในระยะใกล้แล้วผ่านไปสักระยะจะรู้สึกว่าตาเบลอๆ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นอาการที่บ่งบอกถึงโรคตาแห้ง
สัญญาณอันตราย “ตาแห้ง”
- ปวดแสบปวดร้อนบริเวณดวงตา
- ตาแดง
- น้ำตาไหล
- กระพริบตาบ่อย
- ตาฝ้าฟาง
สาเหตุของอาการตาแห้ง
- การใช้สายตาระยะใกล้ เช่น การจ้องจอคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือการอ่านหนังสือต่อเนื่องเป็นเวลาหลายชั่วโมง
- เพศหญิงเป็นมากกว่าเพศชาย
- เมื่อเข้าสู่อายุ 65 ปีขึ้นไป มีอัตราการเกิดโรคตาแห้งสูงกว่าวัยอื่น
- ผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์เป็นประจำ
- โรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคภูมิแพ้ตัวเอง โรคความดันโลหิตสูง ที่ต้องมีการรับประทานยาขับปัสสาวะ และส่งผลข้างเคียงทำให้เกิดตาแห้ง
- ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ต้องรับประทานยาบางตัวที่ส่งผลข้างเคียงทำให้ตาแห้งได้
- ผู้ที่ทำศัลยกรรมดวงตา เช่น ทำตาสองชั้น เนื่องจากได้มีการทำลายต่อมไขมันที่เปลือกตา ทำให้น้ำตาระเหยได้ง่ายขึ้นเพราะไม่มีไขมันที่ทำหน้าที่ป้องกันการระเหย บางครั้งยังเกิดการหลับตาที่ไม่สนิท เพราะแผลผ่าตัดยังมีอาการบวม จึงทำให้ 6 เดือนแรกหลังผ่าตัดทำตามักมีอาการตาแห้ง
- ในบางรายที่ทำเลสิก อาจมีอาการตาแห้งได้บ้าง
- การติดขนตาปลอม เนื่องมาจากการใช้น้ำยาล้างทำความสะอาดกาวติดขนตา ที่มีส่วนทำให้ตาแห้ง และทำให้ไขมันอุดตันได้ง่าย
วัยทำงาน เสี่ยงอาการตาแห้งจากการใช้คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
การใช้สายตาระยะใกล้ มักทำให้มีการกระพริบตาน้อยลงถึง 3 เท่ากว่าภาวะปกติ โดยปกติคนเราจะกระพริบตา 8-12 ครั้งต่อนาที สำหรับการใช้สายตาระยะใกล้ซึ่งเป็นการตั้งใจมากเกินไป และเกิดการเพ่งมอง จะส่งผลให้น้ำตาระเหยออกโดยไม่ได้รับการทดแทน ส่งผลให้ดวงตาขาดความชุ่มชื้นและเกิดปัญหาตาแห้งตามมา
การทำงานผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ เป็นการใช้สายตาระยะใกล้ถึงระยะกลาง ซึ่งมักใช้สมาธิและความตั้งใจสูง ส่งผลให้เกิดการเพ่งมอง พฤติกรรมนี้มักทำให้เกิดปัญหาการกระพริบตาน้อยลงตามมา บวกกับการทำงานในห้องแอร์ ซึ่งมีสภาพอากาศที่แห้ง ประกอบกับแสงจ้าจากคอมพิวเตอร์ คือสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลให้ตาแห้งได้ง่าย โดยเฉพาะการทำงานติดต่อกัน 2 ชั่วโมงเป็นต้นไปโดยไม่พักเลย จะส่งผลให้เกิดตาแห้งได้ง่ายมาก หากปล่อยไว้ไม่ดูแล จะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุตา มีอาการตาแดงแสดงออกมา และถ้าหากตาแห้งมากๆ กระจกตาสามารถถลอกได้หรือเป็นแผล ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย
โดยปกติคนทั่วไปจะมีต่อมน้ำตาที่บริเวณด้านบนของคิ้ว ทำหน้าที่ผลิตส่วนประกอบของน้ำตาที่เป็นส่วนของน้ำเพื่อมาหล่อเลี้ยงดวงตาให้เกิดความชุ่มชื้น นอกจากนี้ยังมีต่อมไขมันบริเวณเปลือกตาที่ผลิตไขมันออกมาซึ่งเป็นส่วนประกอบของน้ำตาเช่นกัน โดยไขมันจะทำหน้าที่ป้องกันการระเหยของน้ำตา ทำให้น้ำตาหล่อเลี้ยงดวงตาได้ยาวนานขึ้น โดยทั้งส่วนของน้ำและไขมันคือองค์ประกอบที่ทำให้น้ำตามีคุณภาพดี ช่วยป้องกันโรคตาแห้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วิธีป้องกันอาการตาแห้ง
นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์ โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ให้ข้อมูลเอาไว้ ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการออกแดด หรือถ้าจำเป็นควรสวมแว่นตากันแดด หรือหมวกทุกครั้ง
- ดื่มน้ำก่อนออกจากบ้านทุกครั้งเพื่อทำให้ตาชุ่มฉ่ำ และเพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำเวลาอยู่นอกบ้าน
- พักสายตาขณะใช้คอมพิวเตอร์ระหว่างวันทุกๆ 20-30 นาที
- ใช้น้ำยาเทียมเป็นประจำเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับดวงตา ราวกับทาโลชั่นให้กับดวงตา
- รับประทานอาหารที่มีวิตามินเอสูง เช่น ผักสีเขียว ผักบุ้ง มะละกอ และแครอท เนื่องจากในกลุ่มเด็กนั้นมีอาการตาแห้งเกิดจากการไม่ได้รับประทานผักและผลไม้