นักวิทยาศาสตร์อาจพบ “ยีนผอม” มุ่งวิจัยต่อสู้ "โรคอ้วน" ในอนาคต
การศึกษาวิจัยเบื้องต้นที่ตีพิมพ์ในวารสาร Cell เมื่อไม่นานมานี้ระบุว่า นักวิทยาศาสตร์อาจค้นพบยีนที่ช่วยให้คนเหล่านั้นคงความผอมเพรียวเอาไว้ได้ และยังอาจเปิดโอกาสในการต่อสู้กับการเป็นโรคอ้วนได้อีกด้วย
คณะนักวิทยาศาสตร์นานาชาติสามารถระบุลักษณะความแปรผันทางพันธุกรรมที่ไม่เหมือนใครในบรรดาคนที่มีรูปร่างผอม หรือที่เรียกว่ายีน ALK ซึ่งยีนดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของเซลล์
ทั้งนี้ นักวิจัยพบยีนดังกล่าวด้วยการศึกษาตัวอย่าง DNA และข้อมูลทางด้านการแพทย์ของชาวเอสโตเนียสุขภาพดีที่มีอายุระหว่าง 20 ถึง 44 ปีจำนวนกว่า 47,000 คน
Josef Penninger ศาสตราจารย์ภาควิชาพันธุศาสตร์การแพทย์และผู้อำนวยการสถาบัน Life Sciences Institute แห่งมหาวิทยาลัย University of British Columbia และเป็นผู้เขียนรายงานระดับอาวุโส กล่าวว่า นักวิจัยพบว่าความผันแปรทางพันธุกรรมดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับการที่คนเรามีรูปร่างผอมมาก ๆ จึงศึกษาการทำงานของยีน ALK ในหนูและแมลงวัน และพบว่าการกำจัดยีนนี้ออกไปส่งผลให้รูปร่างของแมลงวันและหนูผอมบางลง
โดยนักวิจัยทดลองให้หนูกินอาหารไขมันสูง และพบว่าหนูที่น้ำหนักตัวปกติกลายเป็นโรคอ้วน ส่วนหนูที่ไม่มียีน ALK ยังคงผอมอยู่เหมือนเดิม
Stephen O'Rahilly ศาสตราจารย์หัวหน้าภาควิชาชีวเคมีและผู้อำนวยการศูนย์รักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบเผาผลาญของร่างกายที่มหาวิทยาลัย Cambridge ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษาวิจัยครั้งนี้ กล่าวว่า งานวิจัยนี้แม้ว่าจะยังไม่ชัดเจนแต่ก็มีความน่าสนใจมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาเรื่องยีน ALK เพื่อใช้เป็นกลยุทธ์ในการรักษาโรคอ้วน
นักวิทยาศาสตร์ทราบมาก่อนแล้วว่าการกลายพันธุ์ของยีนและโปรตีน ALK นั้นอาจทำให้เกิดเนื้องอกซึ่งกลายเป็นมะเร็งได้ เช่น มะเร็งในปอด มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งสมอง เป็นต้น
Penninger กล่าวว่า การรักษาโดยการกำหนดเป้าหมายไปที่ยีน ALK อาจช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถต่อสู้กับโรคอ้วนได้ในอนาคต กล่าวคือ หากเราสามารถหยุดหรือลดการทำงานของยีน ALK ได้ ก็อาจทำให้เราคงความผอมเอาไว้ได้ รวมทั้งอาจเป็นโอกาสสำหรับวิธีรักษามะเร็งบางอย่างได้ด้วย