สายเนื้อต้องระวัง! "เนื้อวัวดิบ" กับอันตรายต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้

สายเนื้อต้องระวัง! "เนื้อวัวดิบ" กับอันตรายต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้

สายเนื้อต้องระวัง! "เนื้อวัวดิบ" กับอันตรายต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"เนื้อวัว" เป็นเนื้อที่เราอาจจะเคยได้ยินกันมาบ้างว่าสามารถกินดิบได้ เพราะเนื้อวัวนั้นไม่มีพยาธิแบบเนื้อหมู เนื้อไก่ ซึ่งบ้านเราก็มีเมนูเนื้อวัวดิบอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็น ลาบเนื้อวัว ซอยจุ๊ เมนูซาชิมิเนื้อวัวที่มีการหั่นจิ้มกับแจ่ว หลายคนก็อาจจะมีข้อสงสัยว่าตกลงแล้วการ กินเนื้อวัวดิบ นั้นปลอดภัยจริงเหมือนที่เคยเชื่อมาหรือไม่

Hello คุณหมอ จะพาทุกคนไปหาคำตอบของคำถามที่ว่า กินเนื้อวัวดิบปลอดภัยหรือไม่

เชื้อที่อาจปนเปื้อนมากับการกินเนื้อวัวดิบ

แม้ว่าการรับประทานเนื้อวัวดิบนั้นจะไม่มีความเสี่ยงเท่ากับการรับประทานเนื้อหมู เนื้อไก่ แต่เนื้อวัวดิบก็มีแบคทีเรียที่เป็นอันตรายปนเปื้อนมาด้วย ไม่ว่าจะเป็น

  • ซาลโมเนลลา (Salmonella)

เป็นแบคทีเรียที่มักมีการปนเปื้อนมากับอาหาร ซึ่งจะทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยด้วยกัน 2 แบบคือ หนึ่งคือโรคระบบทางเดินอาหาร ซึ่งมักจะมีอาการอาเจียน ท้องร่วง สองคือมีไข้ ปวดหัว บางครั้งก็อาจจะมีผื่นขึ้น

  • เชื้อลิสทีเรีย (Listeria)

เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้เป็นเชื้อที่มีความรุนแรงจนอาจทำให้เกิดอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ เชื้อลิสทีเรียเป็นเชื้อที่มักทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบประสาท อย่างเช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฝีในสมอง ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ติดเชื้อนี้จะติดผ่านการรับประทานอาหาร ผู้ที่ติดส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ มีโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง  ซึ่งอาการของผู้ที่ติดเชื้อชนิดนี้จะเพียงอาการไข้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น หรือหากติดเชื้อรุนแรงอาจทำให้เกิดลำไส้อักเสบได้

  • เชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ (Campylobacter)

เชื้อแคมไพโลแบคเตอร์เป็นเชื้อที่สามารถพบได้ในทางเดินอาหารของสัตว์ เช่น วัว หมู ไก่ เป็ด แพะ แกะ แมว สัตว์น้ำเค็ม แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะพบเชื้อชนิดนี้ในทางเดินอาหารของวัวและไก่ ซึ่งหากมีการปรุงเนื้อสัตว์ไม่สุกหรือดื่มน้ำนมดิบ ก็อาจมีการปนเปื้อนของแบคทีเรียชนิดนี้มาได้ หากร่างกายได้รับเชื้อชนิดนี้อาจทำให้เกิดโรคลำไส้อักเสบ ซึ่งจะมีอาการท้องเสีย ปวดท้อง มีไข้ บางครั้งอาจมีอาการถ่ายเป็นเลือดร่วมด้วย

  • เชื้ออีโคไล (E. coli)

เชื้ออีโคไลเป็นเชื้อที่สร้างสารพิษทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งคนนั้นสามารถติดเชื้อนี้ได้จากการรับประทานเนื้อดิบ เนื้อที่ปรุงไม่สุก หรือเนื้อที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ นอกจากติดโดยการรับประทานเนื้อดิบแล้วยังสามารถติดได้ผ่านการสัมผัสกับอุจจาระของสัตว์ที่มีเชื้อได้อีกด้วย โดยผู้ที่ได้รับเชื้อนี้ไปประมาณ 1-2 วัน จะมีอาการปวดท้อง เป็นตะคริว และมีอาการท้องร่วง บางครั้งอาจมีเลือดปน


วิธีการกินเนื้อวัวดิบอย่างปลอดภัย

เชื้อแบคทีเรียเป็นเชื้อโรคที่สามารถเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และยังเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอาหารเป็นพิษ ซึ่งวิธีเก่าแก่สำหรับการรับประทานเนื้อดิบอย่างปลอดภัยคือ การรับประทานเนื้อดิบที่มีความสด ไม่ปล่อยทิ้งไว้นาน อย่างเช่น ในเลบานอน หากจะทำเมนู Kibbe จะต้องเชือดคอแกะแล้วนำเนื้อมาปรุงในทันที เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย

อีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้คุณปลิดภัยสำหรับการบริโภคเนื้อดิบคือ เลือกซื้อในร้านที่มีความสะอาด ปลอดภัย มีมาตรฐานรับรอง เมื่อซื้อแล้ว ไม่ควรปล่อยทิ้งเนื้อไว้นอกตู้เย็นนานเกินไป ควรแช่ตู้เย็นที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียส เพื่อป้องกันการก่อตัวและการเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย แต่อย่างไรก็ตามการบริโภคเนื้อที่ปรุงสุกนั้นจะมีความปลอดภัยต่อสุขภาพมากที่สุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook