7 สัญญาณอันตราย "มะเร็งสมอง"
มะเร็งสมอง (Brain cancer) หมายถึง การที่ภายในสมองมีเซลล์ที่เจริญเติบโตมากผิดปกติ จนกลายกลายเป็นเนื้องอก เนื้องอกในสมองนี้จะกดทับพื้นที่บางส่วนภายในสมอง และส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมอง
มะเร็งสมอง คืออะไร?
มะเร็งสมอง (Brain cancer) หมายถึง การที่ภายในสมองมีเซลล์ที่เจริญเติบโตมากผิดปกติ จนกลายกลายเป็นเนื้องอก เนื้องอกในสมองนี้จะกดทับพื้นที่บางส่วนภายในสมอง และส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมอง เช่น ทำให้สับสน ความจำเสื่อม หรืออาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของร่างกาย และอาจทำให้เสียชีวิตได้
บางคนอาจจะเรียกโรคมะเร็งสมองว่า เนื้องอกในสมอง แต่จริงๆ แล้ว ใช่ว่าเนื้องอกในสมองทุกชนิดจะต้องเป็นมะเร็งสมอง เพราะการเป็นโรคมะเร็งสมอง หมายถึงการที่เนื้องอกนั้นเป็นเนื้อร้าย ที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และแพร่กระจายลุกลามไปยังส่วนต่างๆ ในร่างกาย
โรคมะเร็งสมอง อาจแบ่งได้เป็นส่วนประเภทหลักๆ คือ
- โรคมะเร็งสมองปฐมภูมิ (Primary Brain Cancers) หมายถึงโรคมะเร็งสมอง ที่มีเนื้องอกเกิดขึ้นตั้งแต่ภายในบริเวณสมอง ไม่ได้ลุกลามมาจากส่วนอื่น
- โรคมะเร็งสมองทุติยภูมิ (Secondary brain tumor) หรือโรคมะเร็งระยะแพร่กระจายสู่สมอง (Metastatic Brain Cancer) หมายถึงโรคมะเร็งสมองที่เกิดจากการที่เซลล์มะเร็งที่เกิดขึ้นในส่วนอื่นของร่างกาย เช่น มะเร็งเต้านม ได้แพร่กระจายและลุกลามเข้าสู่ในสมอง เป็นเนื้องอกในสมองประเภทที่พบได้บ่อยที่สุด
มะเร็งสมอง พบบ่อยแค่ไหน?
โรคมะเร็งสมองเป็นโรคที่พบได้ค่อนข้างยาก จากข้อมูลของสมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา (American Cancer Society) แสดงให้เห็นว่า ในกลุ่มประชากรทั้งหมด จะมีเพียงแค่ 1% เท่านั้นที่อาจจะเกิดโรคมะเร็งสมอง นอกจากนี้โรคมะเร็งสมองก็ยังอาจพบได้ในกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่ากลุ่มอื่นๆ อีกด้วย
อาการของโรคมะเร็งสมอง
อาการของโรคมะเร็งสมองนั้นแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของเนื้องอกที่อยู่ในสมอง โดยมีอาการที่พบได้บ่อยที่สุดดังต่อไปนี้ เช่น
- ปวดหัว
- อ่อนแรง
- เคลื่อนไหวลำบาก
- ชัก
- คลื่นไส้ อาเจียน
- เสียสมดุลการทรงตัว
- ความจำเสื่อม
- มีปัญหากับการพูด
- การมองเห็นมีปัญหา
- ลักษณะนิสัยเปลี่ยนแปลง
- หมดสติ
- ง่วงซึม
อาการเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของอาการที่อาจจะเกิดขึ้น คนส่วนใหญ่มักจะค่อยๆ มีอาการรุนแรงขึ้น และยากต่อการสังเกตเห็นในช่วงแรกๆ แต่ในบางกรณีก็อาจจะมีอาการรุนแรงเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน
สัญญาณอันตราย โรคมะเร็งสมอง
โปรดติดต่อแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจในทันทีหากสังเกตพบอาการดังต่อไปนี้
- อาเจียนอย่างต่อเนื่องโดยหาสาเหตุไม่ได้
- มองเห็นภาพซ้อน หรือมองเห็นไม่ชัด
- ง่วงนอนอย่างรุนแรง
- มีอาการชัก
- มีอาการปวดหัวแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
- มีลักษณะนิสัยหรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป
- พูดไม่ชัด พูดลำบาก
หากคุณมีสัญญาณหรืออาการที่ระบุข้างต้น หรือมีข้อสงสัยใดๆ โปรดปรึกษาแพทย์
ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดควรปรึกษาแพทย์ เกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์ของคุณ
สาเหตุของมะเร็งสมอง
เช่นเดียวกันกับเนื้องอกในสมอง ในปัจจุบันนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคมะเร็งสมอง แต่อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ปัจจัยบางอย่าง อาจเป็นตัวเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งสมองได้ ดังนั้นหากต้องการลดโอกาสในการเกิดโรคมะเร็งสมอง จึงควรเริ่มจากการลดปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคมะเร็งสมอง
ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งสมอง
ปัจจัยบางอย่าง อาจเป็นตัวเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเนื้องอก ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดมะเร็งสมองได้ ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้คือ
- อายุที่เพิ่มขึ้น
- การสูบบุหรี่
- การเปิดรับสารเคมีหรือแร่ธาตุต่างๆ เช่น ยาฆ่าแมลง สารตะกั่ว พลาสติก ยาง ปริโตเลียม
- คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคมะเร็ง หรือเนื้องอกอื่นๆ
- ติดเชื้อไวรัสเอ็บสไตบาร์ (Epstein-Barr)
นอกจากนี้ หากคุณมีเนื้องอกหรือโรคมะเร็งในส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม คุณก็อาจจะมีโอกาสเกิดโรคมะเร็งสมองได้ จากการที่มะเร็งแพร่กระจายเข้าสู่ในสมอง
การวินิจฉัยและการรักษาโรคมะเร็งสมอง
ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยมะเร็งสมอง การตรวจทางระบบประสาท (Neurological Examination) เพื่อหาดูว่าในสมองนั้นมีเนื้องอกอยู่หรือไม่ การสแกนสมอง เช่น ซีทีสแกน (computerized tomography; CT) เอ็มอาร์ไอ (Magnetic resonance imaging; MRI) และพีอีทีสแกน (positron emission tomography; PET) เพื่อหาดูว่าตำแหน่งของเนื้องอกอยู่ที่ไหน การเจาะตรวจน้ำไขสันหลัง (Lumbar Puncture) เพื่อเก็บตัวอย่างน้ำในไขสันหลังและในสมองเพื่อนำไปตรวจหาเซลล์มะเร็ง การตรวจชิ้นเนื้อสมอง (brain biopsy) โดยการผ่านำเนื้อส่วนสมองเล็ก ๆ ไปตรวจเพื่อดูว่าเนื้องอกนั้นเป็นเนื้อร้ายหรือไม่
การรักษามะเร็งสมอง
- การผ่าตัด
การผ่าตัดนั้นเป็นวิธีการรักษาที่พบมากที่สุดสำหรับการรักษาโรคมะเร็งสมอง แพทย์จะทำการผ่าตัดนำส่วนของเนื้องอกออกมา แต่ในบางครั้ง หากเนื้องอกนั้นอยู่ในบริเวณที่สำคัญของสมอง ก็อาจทำให้ไม่สามารถทำการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด
- การทำเคมีบำบัดและการฉายรังสีบำบัด
การทำเคมีบำบัด (chemotherapy) หรือที่เรียกว่าการให้คีโม เป็นการให้ยาเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งภายในสมอง และทำให้เนื้องอกมีขนาดลดลง อาจใช้ทั้งยาสำหรับรับประทานและยาสำหรับฉีด
ส่วนการฉายรังสีบำบัด จะใช้สำหรับการจัดการกับเซลล์มะเร็งที่ไม่สามารถกำจัดได้ด้วยการผ่าตัด โดยฉายรังสีคลื่นความถี่สูง เช่น เอกซเรย์ เพื่อเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็ง
- ยาอื่นๆ
แพทย์อาจจะให้ยาอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อช่วยรักษาและจัดการกับอาการที่เกิดขึ้น ทั้งจากโรคมะเร็งสมอง และอาการที่เกิดขึ้นระหว่างการรักษาโรคมะเร็งสมอง
- การฟื้นฟูสภาพ (Rehabilitation)
หากมะเร็งได้สร้างความเสียหายต่อสมองของคุณ จนทำให้เกิดปัญหาในการพูด การเดิน หรือการทำกิจกรรมอื่น ๆ คุณก็อาจจะต้องเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูสภาพ เช่น การบำบัดทางกายภาพ เพื่อช่วยฟื้นฟูร่างกายให้สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้
- การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองที่ช่วยจัดการกับมะเร็งสมอง หากผู้ป่วยมีปัญหาทางด้านการเดินหรือการเคลื่อนไหว อาจต้องเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูทางกายภาพเป็นประจำ เพื่อช่วยให้สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
หากมีคำถาม โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ