"ถ้วยใส่เลือดประจำเดือน" ใช้แทนผ้าอนามัย วิธีใช้ และข้อควรระวัง

"ถ้วยใส่เลือดประจำเดือน" ใช้แทนผ้าอนามัย วิธีใช้ และข้อควรระวัง

"ถ้วยใส่เลือดประจำเดือน" ใช้แทนผ้าอนามัย วิธีใช้ และข้อควรระวัง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประจำเดือนของผู้หญิง ทำให้ผู้หญิงต้องซื้อผ้าอนามัยมาใช้ทุกเดือน แม้ว่าจะมองว่าราคาไม่แพงมากมายอะไร แต่อันที่จริงแล้วก็ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงสำหรับบางคน เพราะต้องใช้เป็นประจำทุกเดือนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แถมยังเป็นขยะที่ต้องใช้วิธีกำจัดอย่างถูกต้อง เพราะจัดว่าเป็นขยะติดเชื้ออีกด้วย

แต่ถ้าสาวๆ คนไหนได้ทำความรู้จักกับ “ถ้วยใส่เลือดประจำเดือน” อาจมองว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ และอาจจะติดใจจนไม่กลับไปใช้ผ้าอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งแบบเดิมอีกก็ได้


ถ้วยใส่เลือดประจำเดือน คืออะไร?

ถ้วยใส่เลือดประจำเดือน หรือที่บางคนเรียกว่า ถ้วยรองรับประจำเดือน หรือถ้วยอนามัย เป็นถ้วยเล็กๆ มีปลายที่เป็นเหมือนก้านเล็กๆ ยื่นออกมาเล็กน้อย ตัวถ้วยทำจากซิลิโคนที่สามารถบีบ และบิดให้เล็กลง เพื่อการสอดใส่ผ่านช่องคลอดเข้าไปด้านในเพื่อรองรับเลือดประจำเดือนได้


วิธีใช้ถ้วยใส่เลือดประจำเดือน

  1. ตรวจเช็กคุณภาพของถ้วยก่อนใช้ทุกครั้ง ว่าไม่มีส่วนใดชำรุด ทำความสะอาดและแห้งสนิทดี
  2. ตัดเล็บให้สั้น ล้างมือให้สะอาด เช็ดมือให้แห้ง
  3. อยู่ในท่านั่งยองๆ หรือยืนแบบโก่งโค้งเล็กน้อย พับถ้วยให้เล็กพอที่จะสามารถสอดใส่เข้าไปในช่องคลอดได้ และพยายามสอดเข้าไปให้ลึกมากพอ ส่วนมากถ้วยจะถูกดันไปจนติดปากมดลูกโดยอัตโนมัติ หรืออาจต้องใช้นิ้วช่วย "หมุนอย่างนุ่มนวล" ที่ฐานถ้วย ให้ปากถ้วยแนบผนังช่องคลอดและดันลึกพอ
  4. ถ้ารู้สึกว่าใส่แล้วไม่สบายตัว อาจเพราะสอดใส่ไม่ลึกเพียงพอ (เหมือนกับการใส่ผ้าอนามัยแบบสอด) และอาจเสี่ยงซึมเปื้อนออกมาข้างนอกได้ เพราะปากถ้วยไม่แน่นพอ ดังนั้นให้ลองดันเข้าไปให้ลึกขึ้นอีกเล็กน้อย
  5. ใส่ได้นาน 4-12 ชั่วโมง แล้วแต่ขนาดของถ้วยที่ใช้ ถอดเพื่อเทเลือดทิ้งราว 2-4 ครั้งต่อวัน อย่าสวมใส่นานเกินกว่าที่ระบุเอาไว้ที่ฉลากผลิตภัณฑ์ เพราะนอกจากจะเสี่ยงเลือดในถ้วยล้นจนอาจไหลซึมออกมาด้านนอกได้แล้ว ยังเสี่ยงติดเชื้อได้ด้วย
  6. วิธีเอาออก นั่งลง สอดนิ้วไปดึงออก "อย่างนุ่มนวล" บางยี่ห้อมีห่วงให้ดึง ล้างมือให้สะอาด นั่งลง ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ จับบริเวณก้นถ้วย แล้วบีบก้นถ้วยเพื่อคลายซีล
    แล้วค่อยๆ ดึงออกมา "อย่างนุ่มนวล" อย่าดึงก้านถ้วยโดยตรง และพยายามอย่าดึงออกมาอย่างรุนแรง เพราะอาจทำให้เลือดประจำเดือนหกเลอะเทอะได้
  7. เทเลือดทิ้งลงชักโครก ทำถ้วยมาล้างกับน้ำและสบู่ก็เพียงพอ ซับให้แห้ง และสามารถสวมใส่เข้าไปใหม่ได้
  8. สามารถนำมาฆ่าเชื้อเพื่อความสะอาดได้ ด้วยการนำไปต้มในน้ำเดือดราว 3-5 นาที ผึ่งให้แห้ง สามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้


ข้อดีของถ้วยใส่เลือดประจำเดือน

  1. สามารถใช้ซ้ำได้ทุกเดือน มีอายุการใช้งานที่ยาวนานหากดูแลรักษาความสะอาดเป็นอย่างดี และเลือกซื้อแบบที่ทำจากวัสดุซิลิโคนคุณภาพดี
  2. ทำจากซิลิโคนที่วัสดุเกรดที่ใช้ทางการแพทย์ สีที่ใช้เป็นสีชนิดที่กินได้ จึงปลอดภัยกับร่างกาย
  3. มีให้เลือกหลายแบบ หลายไซส์ หลายขนาด เพื่อการรองรับปริมาณของเลือดประจำเดือนที่ต่างกัน เลือกซื้อได้ตามใจชอบ
  4. ราคาไม่แพง สมเหตุสมผล เมื่อสามารถใช้ซ้ำได้มากครั้ง ใช้ได้เรื่อยๆ จนกว่าจะชำรุด ประหยัดเงินในการซื้อผ้าอนามัยรายเดือนไปได้เยอะ
  5. ลดขยะที่เกิดจากผ้าอนามัยในแต่ละเดือนไปได้เยอะ จึงถูกเรียกว่าเป็นเทรนด์รักษ์โลกที่สาวๆ หลายคนให้ความสนใจ
  6. ถ้าสวมใส่จนเคยชินแล้ว จะพบว่าสวมใส่ได้สบายตัว ไม่อับชื้น ไม่เหนียวเหนอะหนะ และยังลดกลิ่นไม่พึ่งประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้อีกด้วย


ข้อเสีย  และข้อควรระมัดระวังของถ้วยใส่เลือดประจำเดือน

  1. ผู้หญิงหลายคนอาจไม่คุ้นชิ้นกับการใช้ถ้วยอนามัยแบบนี้ อาจมีปัญหาระหว่างการสวมใส่ และการถอดออก
  2. ต้องเลือกถ้วยอนามัยที่ได้มาตรฐาน ไม่ซื้อของลอกเลียนแบบที่ไม่ได้คุณภาพ เพราะอาจเสี่ยงติดเชื้อได้
  3. หากสวมใส่นานโดยไม่ได้เอาออกตามเวลาที่ควรจะเป็น อาจเสี่ยงเลอะเทอะเปรอะเปื้อน และเสียงอันตรายจนถึงขั้นติดเชื้อได้
  4. หากสวมใส่ไม่ระวัง เช่น เล็บยาว และใช้แรงมากเกินไป อาจเกิดร่องรอยบาดแผล หรืออาการบาดเจ็บอื่นๆ ได้
  5. ถ้วยอนามัยอาจปรากฏรอย หรือคราบที่บริเวณขอบถ้วยได้เมื่อใช้ไปนานๆ หากไม่แน่ใจว่าจะสะอาด หรือปลอดภัยหรือไม่ สามารถซื้ออันใหม่มาใช้แทนได้
  6. เคยพบกรณีผู้ใช้ถ้วยรองรับประจำเดือนเกิดการติดเชื้อจากสารพิษของแบคทีเรียจนเกิดอาการท็อกซิกช็อก (Toxic shock syndrome หรือ TSS) ดังนั้นจึงต้องรักษาความสะอาด และอย่าคาถ้วยเอาไว้นาน
  7. ผู้มีภาวะ Pelvic organ prolapse อวัยวะภายในอุ้งเชิงกรานหย่อน อาจใช้ถ้วยอนามัยไม่ได้
  8. ผู้ที่ใส่ห่วงคุมกำเนิด (IUD) การถอดและใส่ถ้วยอนามัย อาจทำให้ห่วงหลุด จึงควรสอบถามแพทย์ก่อนซื้อใช้
  9. การใช้ถ้วยอนามัยอาจไม่สะดวกในการถอด และล้าง กรณีที่ต้องใช้ห้องน้ำสาธารณะ

หากยังไม่แน่ใจว่าควรลองใช้ดีไหม หรือยังสงสัยว่าใช้อย่างไร ควรสอบถามแพทย์ หรือเภสัชกรใกล้บ้าน เพื่อความปลอดภัยในการใช้อย่างแท้จริง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook