ดูแลอาการ "หอบหืด" อย่างไรในช่วงหน้าฝน
ผู้ป่วยโรคหอบหืดดูแลตนเองในช่วงอากาศกำลังเข้าสู่ฤดูฝน อากาศชื้น ปัจจัยต่างๆที่จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องอาจได้รับอันตรายถึงชีวิต
โรคหอบหืด อาจกำเริบได้ในช่วงหน้าฝน
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคหอบหืดเป็นโรคที่มีการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ซึ่งเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรมและปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เช่น
- มลพิษทางอากาศ
- การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เช่น ร้อนจัด เย็นจัด ฝนตก อากาศแห้งหรือชื้น
- เชื้อโรค
- ไรฝุ่น
- แมลงสาบ
- เกสรดอกไม้ หญ้า
- วัชพืช
- ฝุ่นควันต่างๆ
- น้ำหอม
- น้ำยาหรือสารเคมี
- สัตว์เลี้ยง
ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่กระตุ้นปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ของผู้ป่วยโรคหอบหืด ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการไอ หายใจไม่สะดวก หากผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง การอักเสบเรื้อรังของหลอดลมนี้อาจนำไปสู่การเกิดพังผืดและการหนาตัวอย่างมาก ซึ่งมีผลทำให้มีการอุดกั้นของหลอดลมอย่างถาวร
อาการของโรคหอบหืด
นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการของผู้ป่วยโรคหอบหืดมักจะมีอาการที่สังเกต ดังนี้
- หายใจลำบากติดขัด มีเสียงหวีด
- เหนื่อยหอบเวลาออกแรง
- แน่นหน้าอก
- เยื่อบุหลอดลมบวม
- ไอ
- มีเสมหะเหนียวข้น ซึ่งเกิดจากการหดเกร็งของหลอดลมทั้งใหญ่และเล็ก
หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยอาการเพื่อรับการรักษา
วิธีลดความเสี่ยงโรคหอบหืด
ผู้ที่ป่วยเป็นโรคหอบหืดควรหลีกเลี่ยงหรือขจัดสิ่งต่างๆ ที่อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้หรือกระตุ้นอาการหอบหืด เช่น
- ควรหมั่นทำความสะอาดบ้าน โดยเฉพาะ ห้องนอน ห้องทำงาน รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์ พัดลม เครื่องปรับอากาศ
- พยายามเปิดหน้าต่าง ให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ให้แสงแดดส่องถึง
- กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงสาบ
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่
- ควรใช้ยาอย่างสม่ำเสมอ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
- ออกกำลังกายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันตามคำแนะนำของแพทย์อย่างถูกต้อง
- หลีกเลี่ยงภาวะเครียด
จะเห็นได้ว่าโรคหอบหืดนั้นเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ป่วยให้ระมัดระวัง หลีกเลี่ยงสิ่งที่คิดว่าจะทำให้เกิดอาการเพื่อป้องกันหรือลดการเสียชีวิตจากโรคหอบหืด