"เอ็นข้อศอกอักเสบ" โรคฮอตฮิตคนชอบออกกำลังกาย
หนึ่งในอาการที่กวนใจใครหลายคนนั้นก็คือ อาการปวดบริเวณข้อศอก ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่นั้นเกิดจากจุดเกาะเอ็นและเอ็นบริเวณข้อศอกอักเสบ โดยอาการเกิดจากการใช้งานมือ ข้อมือและข้อศอกมากเกินไป หรือต้องใช้งานในลักษณะเดิมซ้ำไปซ้ำมาทำให้เกิดการอักเสบขึ้น และถึงแม้ว่าอาการเจ็บจะเป็นบริเวณข้อศอก แต่สาเหตุจริงๆ นั้น มาจากการใช้งานมือและข้อมือร่วมด้วย เพราะว่าเอ็นและกล้ามเนื้อบริเวณมือและข้อมือจะมาเกาะที่บริเวณข้อศอกนั้นเอง ส่งผลให้อาการเจ็บไปเกิดขึ้นที่บริเวณข้อศอกครับ
เอ็นข้อศอกอักเสบ เป็นอย่างไร?
นพ.เกรียงศักดิ์ เล็กเครือสุวรรณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อเข่า ข้อสะโพก และข้อไหล่ โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล ระบุว่า อาการอักเสบบริเวณด้านนอกของข้อศอกนี้มีชื่อเรียกว่า เทนนิส เอลโบ (Tennis elbow) ถึงแม้ว่าชื่อจะเป็นกีฬาเทนนิส แต่ว่าไม่ใช่เฉพาะนักกีฬาเทนนิสเท่านั้น ที่มีการอักเสบบริเวณนี้ ยังมีอาชีพอื่นๆ อีก เช่น ช่างนักวาดรูป แม่ครัวแม่บ้าน หรือแม้แต่กลุ่มคนที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงาน โดยสาเหตุยอดฮิตอีกอย่างหนึ่งที่พบมากนั่นก็คือ การออกกำลังกาย เพราะว่าการออกกำลังกาย มากกว่า 80% ต้องใช้มือและข้อมือนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นการตีแบดมินตัน ตีปิงปอง การเข้ายิมออกกำลังกายด้วยเครื่องมือต่างๆ หรือแม้แต่การวิดพื้น ยกดัมเบลอยู่ที่บ้านก็ล้วนแต่ต้องใช้กล้ามเนื้อมือและข้อมือร่วมด้วยทั้งสิ้น
อาการนี้มักจะพบในคนอายุ 30-50 ปี มีอาชีพที่มีความเสี่ยงต้องใช้งานมือและข้อมือ หรือข้อศอกซ้ำไปซ้ำมาอย่างต่อเนื่อง หรือผู้ที่เล่นกีฬาเป็นประจำ โดยเฉพาะกีฬาที่ต้องใช้แร็กเกต หรืออุปกรณ์ที่ต้องใช้มือในการถือ จับ ประคอง ในการเล่นกีฬา
อาการเอ็นข้อศอกอักเสบ
เมื่อมีการอักเสบบริเวณข้อศอก อาการปวดจะเป็นมากและอาจจะมีอาการบวมนูนขึ้นบริเวณนั้น รวมไปถึงปวด บวมลามไปที่บริเวณแขน บางครั้งลามไปถึงบริเวณข้อมือได้ หากอาการเป็นมากแม้แต่การถือแก้วน้ำหรือถือแก้วกาแฟก็ทำให้มีอาการปวดได้ อาการเหล่านี้จะรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้ทำงานได้ลดลง ออกกำลังกายได้ลดลง ไปจนถึงปวดมากเวลากลางคืนจนทำให้ตื่นนอนได้
วิธีรักษาเอ็นข้อศอกอักเสบ
ถ้าเป็นไม่มาก สามารถรักษาได้ง่ายๆ ด้วยการพักจากกิจกรรมนั้นๆ และรับประทานยาลดอาการปวด อาการมักจะดีขึ้นภายใน 3-7 วัน แต่ถ้าการอักเสบเป็นมากแล้วนั้น การรับประทานยาจะไม่สามารถทำให้หายเป็นปกติได้ การปล่อยให้เอ็นอักเสบบริเวณข้อศอกเป็นไปอย่างเรื้อรัง จะทำให้เกิดภาวะการอักเสบเรื้อรังของจุดต่อเอ็นและเกิดพังผืดขึ้นได้ ส่งผลให้การรักษาเป็นไปอย่างยากขึ้น ไม่สามารถรักษาโดยการรับประทานยาเพียงอย่างเดียวได้ เพราะเลือดไม่สามารถนำยาที่รับประทานผ่านเข้าไปที่พังผืดได้นั่นเอง นอกจากนี้หากผู้ป่วยมีอาการปวดข้อศอกเรื้อรัง อาการปวดนั้นอาจจะมาจากโรครูมาตอยด์ หรือโรคปลายประสาทอักเสบ หรือเส้นประสาทถูกกดทับ หรือโรคข้ออักเสบติดเชื้ออื่นๆ
หากอาการเป็นเรื้อรังไม่หายเอง แนะนำให้พบแพทย์ แพทย์จะทำการตรวจร่างกายเพื่อยืนยันว่าอาการปวดดังกล่าวนั้นมาจากเอ็นที่ข้อศอกมีการอักเสบ ไม่ใช่มาจากข้อศอกอักเสบ หรือมีการติดเชื้อที่ข้อโดยทั่วไปจากประวัติ และการตรวจร่างกายสามารถ ก็สามารถจะวินิจฉัยได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้เอกซเรย์
แต่การอักเสบบริเวณข้อศอกนั้นสามารถเป็นไปได้หลายจุด การใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์ เพื่อหาตำแหน่งที่อักเสบจะทำให้แพทย์ทราบว่าการอักเสบนั้นอยู่ที่ใดและรักษาได้อย่างถูกต้อง
การรักษามีตั้งแต่การยืดเอ็นและกล้ามเนื้อบริเวณข้อศอก รับประทานยาลดการอักเสบ ฉีดยาเพื่อลดอาการอักเสบ ไปจนถึงการผ่าตัดเพื่อเลาะพังผืดที่เกิดจากการอักเสบนั้นออก
ยาที่ฉีดบริเวณข้อศอกนั้น สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
กลุ่มแรก ยาลดอักเสบ ใช้เพื่อลดอักเสบบริเวณเอ็น เฉพาะจุด ทำให้อาการดีขึ้นอย่างรวดเร็ว
กลุ่มที่สอง การฉีดเกล็ดเลือดไปบริเวณข้อศอก จะช่วยให้เกิดการสมานของเอ็นที่อักเสบเรื้อรัง ทำให้อาการปวดลงลง แต่ใช้เวลานานกว่ายากลุ่มแรก
โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณา และให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยเพื่อช่วยเลือกการฉีดยาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย