"ปวดสะโพก" อันตรายหรือไม่ บรรเทาอาการได้อย่างไร?
หลายท่านอาจเคยประสบกับปัญหาการ ปวดสะโพก กันมาบ้าง ซึ่งอาการดังกล่าวมักเกิดจากการทำกิจกรรมที่ต้องมีการใช้งานช่วงข้อต่อและกล้ามเนื้อสะโพกมากเป็นพิเศษ จึงส่งผลให้เกิดอาการปวดสะโพกตามมาได้ แต่ อาการปวดสะโพก ยังสามารถเกิดจากสาเหตุอื่นได้อีกหรือไม่ แล้วอาการปวดสะโพกนั้นเป็นอันตรายหรือเปล่า เราไปหาคำตอบไปพร้อมๆกันได้ที่บทความนี้เลยค่ะ จาก Hello คุณหมอ
ทำไมถึงมีอาการ ปวดสะโพก
อาการปวดสะโพก เป็นปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะหากมีการทำกิจกรรมหรือการใช้งานบริเวณสะโพกหรือช่วงขา อาจก่อให้เกิดความเมื่อยล้า เกิดอาการตึง หรืออักเสบที่บริเวณกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และข้อต่อสะโพก ซึ่งจะทำให้รู้สึกปวดสะโพกได้ อย่างไรก็ตาม อาการปวดสะโพก ยังสามารถเกิดจากอาการทางสุขภาพต่างๆ ด้วยเช่นกัน ได้แก่
- โรคที่เกี่ยวกับไขข้อหรือโรคข้ออักเสบชนิดต่างๆ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุมักจะพบโรคดังกล่าวได้ง่าย อาการเกี่ยวกับไขข้อจะส่งผลให้เกิดการอักเสบที่บริเวณข้อต่อและกระดูกอ่อนของสะโพก จึงทำให้รู้สึกเจ็บปวดที่สะโพก
- กระดูกสะโพกหัก เมื่ออายุมากขึ้นกระดูกก็จะเริ่มอ่อนแอลง ทำให้มีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะกระดูกเปราะ แตก หรือหักได้ ซึ่งหากเกิดอาการกระดูกสะโพกแตกหรือร้าว ก็จะมีผลทำให้รู้สึกปวดสะโพก
- อาการบวมอักเสบของข้อต่อ บริเวณข้อต่อของคนเราจะมีถุงเบอร์ซา (bursa) เล็กๆ ทำหน้าที่ในการหล่อลื่นและลดแรงเสียดทานของเนื้อเยื่อบริเวณข้อต่อ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ถุงเบอร์ซานี้เกิดการอักเสบขึ้น ก็จะมีผลทำให้เกิด อาการปวดสะโพก
- เอ็นอักเสบ เส้นเอ็นเป็นแถบเนื้อเยื่อที่มีความหนา ทำหน้าที่สำคัญในการยึดกระดูกกับกล้ามเนื้อไว้ด้วยกัน แต่เมื่อเส้นเอ็นเกิดอาการตึงหรืออักเสบ ก็จะสร้างความเจ็บปวดที่บริเวณนั้นๆ ได้
- อาการตึงของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น กิจกรรมบางอย่างอาจมีการใช้งานหรือเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อกับเส้นเอ็นที่รองรับสะโพกมากจนก่อให้เกิดอาการตึงที่บริเวณเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ ซึ่งถ้าหากเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อตึงมากจนเกิดเป็นอาการอักเสบ ก็จะมีผลทำให้เกิดอาการปวดที่สะโพกได้
- อาการสะโพกฉีก การฉีกขาดของกระดูกอ่อนที่มีลักษณะเป็นวง หรือที่เรียกว่า ลาบรัม (labrum) ที่บริเวณของข้อต่อสะโพก จะก่อให้เกิดอาการปวดที่สะโพก เนื่องมาจากการใช้งานกล้ามเนื้อบริเวณข้อต่อของสะโพกมากเกินไปจนเกิดอาการฉีกขาดของกระดูกอ่อน
- โรคมะเร็ง แม้จะพบได้ไม่บ่อยนัก แต่โรคมะเร็งก็สามารถส่งผลให้เกิดอาการปวดสะโพกได้ โดยส่วนใหญ่มักเกิดจากการที่มีเนื้องอกในกระดูก
- ภาวะหัวกระดูกข้อสะโพกตายจากการขาดเลือด (Avascular necrosis) หากเลือดไหลลงไปที่กระดูกสะโพกช้าจะมีผลทำให้เนื้อเยื่อบริเวณข้อต่อสะโพกตาย และส่งผลกระทบต่อข้อต่อส่วนอื่นๆ ด้วย
อาการปวดสะโพกอันตรายหรือเปล่า
หากอาการปวดสะโพก เกิดจากความเมื่อยล้าในการทำงานหรือกิจกรรม การบรรเทาอาการปวดสะโพกด้วยตนเองที่บ้าน สามารถช่วยให้อาการดีขึ้นได้ แต่หากสาเหตุของอาการปวดสะโพกเกิดจากอาการทางสุขภาพต่างๆ เช่น โรคไขข้อ เส้นเอ็นอักเสบ สะโพกฉีก ก็ถือว่ามีความเสี่ยงที่น่าเป็นกังวล ซึ่งจำเป็นที่จะต้องได้รับการวินิจฉัยและรักษาทางการแพทย์กับคุณหมอผู้เชี่ยวชาญ
วิธีบรรเทาอาการปวดสะโพกเองที่บ้าน
- หากมีอาการปวดสะโพก ให้พยายามลดการเคลื่อนไหวที่จะทำให้เกิดการงอ หรือเกิดแรงกดทับที่สะโพก พยายามนอนตะแคง หรือหลีกเลี่ยงการนั่งอยู่กับที่นานๆ
- ยาบรรเทาอาการปวดบางชนิด สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดให้ดีขึ้นตามลำดับได้ เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) อะเซตามีโนเฟน (Acetaminophen) การประคบร้อนหรือการประคบเย็น
- การประคบสะโพกในบริเวณที่มีอาการปวดด้วยน้ำแข็ง น้ำเย็น การอาบหรือการแช่น้ำอุ่นสามารถช่วยคลายกล้ามเนื้อ มีส่วนช่วยบรรเทาอาการปวดสะโพกได้
เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ
หากการบรรเทาอาการปวดด้วยตนเองแล้วยังไม่ดีขึ้น อาการปวดสะโพก ของคุณอาจไม่ได้มาจากความเมื่อยล้าในการทำงานหรือทำกิจกรรม แต่อาจเกิดจากสาเหตุอื่นที่ต้องได้รับการวินิจฉัยและเข้ารับการรักษาทางการแพทย์ หรือหากเกิดอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบคุณหมอทันที
- ข้อต่อผิดรูป
- ไม่สามารถขยับขาหรือสะโพกข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างได้
- ขาไม่สามารถรับน้ำหนักได้
- มีอาการปวดอย่างรุนแรง
- เกิดอาการบวมชนิดเฉียบพลัน
- มีสัญญาณที่อาจหมายถึงการติดเชื้อ เช่น บวมแดง มีไข้ หนาวสั่น เป็นต้น