รู้จักโรค “คอบวม” ในโค-กระบือ ยังไม่พบในคน แต่ควรหลีกเลี่ยงสัมผัสสัตว์ป่วย
โรคเฮโมรายิกเซพติกซีเมีย หรือโรคคอบวม กำลังแพร่ระบาดในภาคอีสาน สาเหตุจากวัวควาย ยังไม่พบการแพร่ระบาดในคน แต่แนะให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ที่ป่วย
โรคคอบวม เป็นอย่างไร?
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานการระบาดของโรคเฮโมรายิกเซพติกซีเมีย หรือโรคคอบวม ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยนั้น โรคนี้มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย Pasteurella multocida ซึ่งก่อโรคในโคและกระบือ จากรายงานในครั้งนี้เป็นการระบาดในฝูงกระบือของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดมหาสารคามและจังหวัดขอนแก่น ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ พร้อมทั้งประกาศให้พื้นที่เกิดโรคดังกล่าวเป็นเขตควบคุมโรคระบาดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โรคคอบวม ยังไม่พบการแพร่ระบาดในคน แต่เชื้อชนิดใกล้เคียงสามารถก่ออาการในคนได้
โรคเฮโมรายิกเซพติกซีเมีย ที่พบการระบาดในสัตว์เกิดจากเชื้อ Pasteurella multocida ซีโรไทป์ (serotype) หรือชนิด B:2 หรือ E:2 ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีรายงานว่าเชื้อทั้งสองซีโรไทป์นี้เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยในมนุษย์ อีกทั้งการเจ็บป่วยในมนุษย์ที่มีสาเหตุมาจากเชื้อ Pasteurella multocida ไม่มีความสัมพันธ์กับการระบาดของโรคเฮโมรายิกเซพติกซีเมียในสัตว์แต่อย่างใด
ถึงแม้ปัจจุบันยังไม่มีการติดต่อของโรคเฮโมรายิกเซพติกซีเมียระหว่างสัตว์สู่คน แต่เชื้อ Pasteurella multocida ชนิดอื่นพบว่า เป็นเชื้อฉวยโอกาสและสามารถก่อให้เกิดความเจ็บป่วยในมนุษย์ได้ ก่อให้เกิดการอักเสบในบริเวณที่ได้รับเชื้อดังกล่าว โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องจะก่อให้เกิดโรคที่รุนแรงได้
หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ป่วย เพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อโรค
อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมโรคมีความห่วงใยประชาชน จึงขอให้ประชาชนผู้มีอาชีพเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ และบุคคลที่มีความใกล้ชิดกับสัตว์ไม่ว่าจะเป็นโค กระบือ หรือสัตว์ชนิดอื่นๆ ขอให้หมั่นสังเกตอาการของสัตว์และความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตนเอง รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล มีการป้องกันตนเองและรักษาความสะอาดอยู่เสมอเมื่อจำเป็นต้องสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์มีชีวิตหรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่วย เพื่อเป็นการป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโรคต่างๆ